7 มกราคม 2554

สวัสดีปีใหม่คร่า


                                              ขอให้หน้ามีตีนกา.....ด้วยเหตุว่ายิ้มทุกวัน
                                              ขอให้เธอตัวดำ......ด้วยไฟฝันที่มาครอก
                                              ขอให้เธอถูกหลอก....แบบหยอกๆด้วยความรัก
                                              ขอให้เธอถูกลัก......พาความเศร้าไปจากใจ

                                              ขอให้เธอจนๆ...จนความทุกข์รวยสุขใจ
                                              ขอให้เธอจากไป...จากเรื่องร้าย สู่เรื่องดี
                                              ขอให้เธอถูกจี้.....จี้ให้ขำ ทำเบิกบาน
                                              ขอให้เป็นดีซ่าน...ความดีแผ่ซ่าน สำราญจิตใจ

กล้องคอมแพ็ค/มาโคร : ถ่ายดอกไม้ และแมลงใกล้ๆ ให้สวยได้ ง่ายนิดเดียว

 
ท่ามกลางความเงียบสงัดในบรรยากาศของวันทำงานปรกติ กำลังแอบเจ้านายแชทอย่างเมามัน เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น
R : สวัสดีค่ะ พี่เคน
K : เอ่อ พี่มีอะไรจะรบกวนถามหน่อยครับ (รบกวนมากๆ ก็ได้ค่ะ สำหรับคนหน้าตาดี) คือ กล้องพี่มันเปลี่ยนเลนส์ถ่ายมาโครได้มั้ย ทำไมพี่จะถ่ายดอกไม้ใกล้ๆ มันโฟกัสไม่ได้เลย
R : พี่ใช้กล้องอะไรอยู่คะ
K : (กล้องคอมแพ็คยี่ห้อหนึ่งไม่อาจกล่าวถึงได้ เดี๋ยวจะว่าโจมตี)
R : อ้อ เปลี่ยนไม่ได้ค่ะ แต่พี่ก็สามารถถ่ายได้นะคะ แค่กดปุ่มที่มันเป็นรูปดอกไม้ พี่ก็จะโฟกัสได้ใกล้ขึ้นแล้วค่ะ
K : อ้อได้แล้ว ขอบคุณครับ

ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด ทิ้งกันไปอย่างไม่ใยดี !!!!!
 
 
 
 
ด้วยความปวดร้าวใจ ที่โดนทิ้ง เลยคิดจะเขียนคอลัมน์เพื่อเรียกร้องความสนใจ ด้วยการทำตัวเป็นนางเอก (ในคราบนางอิจฉา)  เผื่อความดีจะส่งผล ให้ได้พบเนื้อคู่ที่แสนดีค่ะ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า มาถึงคำถามยอดฮิตที่หลายคนเกิดปัญหา ทำไมถ่ายใกล้ๆ แล้วกล้องโฟกัสไม่ได้ จะพยายามยังไงกล้อง(บางรุ่น)ก็ไม่ยอมให้ถ่าย บางคนถึงขนาดขายกล้องทิ้งไปซื้อกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ เพราะเข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่ตัวกล้อง อย่างนี้เค้าเรียกว่า Human Error ค่ะ
 
 
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเรื่องการใช้กล้องถ่ายระยะใกล้คร่าวๆ กันก่อน โดยเราจะเรียกรวมๆว่า โหมดมาโคร (ในกล้องคอมแพ็ค) แล้วกันนะคะ
 
 
 
 
พื้นฐานที่ต้องรู้ก่อนถ่าย

1.ก่อนจะถ่ายภาพระยะใกล้ต้องปรับไปที่โหมดมาโคร คือปุ่มที่เป็นรูป ดอกไม้ กล้องคอมแพ็คปรกติจะมีปุ่มเป็นเมนูลัดเข้าไปเลย แต่ก็พบบางรุ่นที่จะต้องเข้าไปเซ็ทในเมนู
 
สัญลักษณ์แทนโหมดการถ่ายภาพระยะใกล้

2.กล้องของเราโฟกัสได้ใกล้สุด ระยะเท่าไร มีตั้งแต่ 0 ซม.(เรียกได้ว่าติดกับหน้าเลนส์เลยทีเดียว 1 ซม. 5 ซม. 15 ซม. แล้วแต่กล้องคอมแพ็คแต่ละตัวค่ะ พูดง่ายๆ ก็คือ ระยะเข้าใกล้สุด โดยที่กล้องไม่มีการซูม)ที่กล้องสามารถโฟกัสได้ โดยใช้โหมดมาโครค่ะ
 

3. เมื่อทำการซูม แม้เพียงเล็กน้อย ระยะโฟกัสจะไกลขึ้น สมมติ จากที่กล้องบอกว่า ระยะโฟกัสใกล้สุด 1 ซม. หากทำการซูม ระยะที่จะโฟกัสได้ ก็จะเพิ่มมากกว่า 1 ซม. อาจจะเป็น 3 ซม. 5 ซม. หรือครึ่งเมตร ก็ขึ้นอยู่กับระยะการซูมว่าไกลแค่ไหน
 
 
หลังจากรู้พื้นฐานกันแล้ว ก็ถึงเวลาทดลองถ่ายค่ะ
ก่อนอื่นปรับกล้องไปที่โหมดมาโคร (รูปดอกไม้) กล้องบางตัวอาจจะมีโหมดมาโคร ซุปเปอร์มาโคร เลือกได้ตามระยะวัตถุที่เราจะเข้าใกล้ เมื่อเลือกโหมดนี้แล้วกล้องจะสามารถโฟกัสได้ใกล้ขึ้น ค่ะ
 
 
เมื่อต้องการถ่ายดอกไม้หรือแมลง ให้หน้าชัดหลังเบลอ

ตอนนี้กล้องของเราก็ถูกปรับเป็นโหมดมาโครเรียบร้อยแล้ว จัดการหาวัตถุที่จะถ่ายอย่างดอกไม้ หรือผีเสื้อ เทคนิคง่ายๆ หากต้องการให้ตัวแบบชัด และหลังเบลอ คอมแพ็คก็สามารถทำได้ แต่อาจไม่เบลอเท่ากล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ เพราะขนาดของเซ็นเซอร์ที่เล็กกว่า โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 อย่าง ด้วยกันค่ะ

1. ยิ่งกล้องเราใกล้วัตถุที่เป็นจุดเด่นเท่าไร หลังก็จะยิ่งเบลอ
2. ระยะการซูม ยิ่งซูมเยอะหลังจะยิ่งเบลอ
3. ช่องรับแสง F ยิ่งกว้าง หลังยิ่งเบลอ
4. ระยะฉากหลัง ยิ่งห่างจากจุดโฟกัสมาก หลังจะยิ่งเบลอ
 
 
ภาพตัวอย่าง
หน้าชัดหลังเบลอปรับกล้องไปที่ซูมสูงสุด ระยะฉากหลังไกลจากจุดโฟกัส แต่ต้องมั่นใจว่ามีแสงเพียงพอ
 

ขั้นตอนต่อไปก็ออกสนามกันเสียทีค่ะ เดินหาเป้าหมาย เมื่อได้ตัวแบบที่จะถ่าย อย่างผึ้ง ผีเสื้อ และมดแล้ว ปรับไปที่โหมดมาโคร หาแสงแดด ซูมเลนส์เล็กน้อยประมาณ 1 ใน 4 ที่ (หากซูมมากๆ จะโฟกัสลำบาก และสั่นไหวมากขึ้น โอกาสภาพชัดน้อยลง) หาตัวแบบที่ห่างจากฉากหลังมากๆ ฉากหลังจะยิ่งเบลอมาก  จัดองค์ประกอบภาพ  เลือกจุดโฟกัสให้ตรงกับจุดเด่น กดชัตเตอร์ ครึ่งหนึ่งให้กล้องโฟกัส อาจต้องใจเย็นหน่อย พอชัดแล้วก็กดชัตเตอร์เลยค่ะ แต่ถ้าอยากให้หลังเบลอมากขึ้น ทำได้โดยการปรับรูรับแสงให้กว้างขึ้น แต่หากปรับ รูรับแสง (F) กว้างสุดแล้ว การซูมที่มากขึ้นก็ช่วยให้หลังเบลอมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ระยะโฟกัสจะไกลขึ้น และสปีตชัตเตอร์จะช้ามากขึ้นโอกาสภาพชัดน้อยลง ทางที่ดีหาที่ที่แสงมากๆ กันไว้ก่อนค่ะ
 
 
 
ย้อนแสงเพื่อให้ได้ภาพที่แปลกตา
 

 
ทริคเล็กๆ ลองถ่ายในที่ที่ย้อนแสง จะได้ภาพที่แปลกกตา และสวยไปอีกแบบค่ะ
 
 

และหากต้องถ่ายวัตถุที่อยู่นิ่งๆ อย่างเช่นพระเครื่อง สินค้า เครื่องสำอางค์ ควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่คุณภาพดี คมชัดแน่นอน โดยตั้งหน่วงเวลาไปที่ 2 วิ เมื่อกดชัตเตอร์กล้องจะยังไม่ถ่ายทันที แต่จะถ่ายหลังจากนั้น 2 วินาที ผลที่ได้ คือ ตัดปัญหา มือของเรากดชัตเตอร์แล้วทำให้กล้องสั่น ภาพที่ได้จึงชัดแน่นอน  ไม่ว่าจะสภาพแสงแบบไหน
 
 
 
ภาพจะมีคุณภาพมากขึ้น หากได้แสงอาทิตย์
 
 
 
และเพื่อให้ได้คุณภาพของภาพที่ดี ก็ควรจะหามุมที่มีแสงอาทิตย์ ส่องผ่าน หรือจะเลือกถ่ายที่ริมหน้าต่าง แต่หากต้องจำลองแสงไฟ อาจจะต้องปรับ WB ช่วยเพื่อให้ได้ค่าแสงที่ตรงตามความเป็นจริงค่ะ
 
 
การถ่ายภาพในสภาพแสงยากๆ โดยใช้โหมดมาโคร ต้องระวังเรื่องอุณหภูมิสี
 
 
 
สุดท้ายรูปลิงถ่ายโดยใช้โหมดมาโคร แถมให้ค่ะ เพื่อไม่ให้จำกัดการถ่ายระยะใกล้อยู่ที่ดอกไม้ และแมลงเท่านั้นค่ะ เรายังสามารถนำเทคนิคจากโหมดนี้ไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์ภาพถ่ายให้สวยแปลกตา น่าสนใจได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ
 

ลองนำไปใช้กันดูนะคะ รับประกันว่า คอมแพ็คไม่ว่ารุ่นไหนก็สามารถถ่ายมาโครสวยๆ ได้ค่ะ
 
 
ปล.ภาพประกอบในคอลัมน์นี้ใช้กล้องคอมแพ็คถ่ายล้วนๆ ค่ะ

 

เทคนิคการถ่าย พลุ

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 ผมได้มีโอกาสไปฝึกถ่ายรูปพลุในงานแสดงและประกวดพลุนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ดวงประทีปพราวนภา เทิดราชาราชินี บารมีศรีแผ่นดิน : Firework Queen Sirikit Ceremony Festival ถือเป็นโอกาสเหมาะที่ปีนึงมีเพียงไม่กี่ครั้ง และครั้งนี้ ก็จัดใกล้เพียงพัทยา
 
 
 
คนเยอะมาก และก็โชคดีที่คืนนั้นไม่มีฝนตกลงมา ถือว่าฟ้าเป็นใจ ให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความงามของพลุอย่างจุใจตลอดสองชั่วโมง  จุดที่ผมถ่ายรูปอยู่บนจุดชมวิวเมืองพัทยา ภาพทั้งหมดถ่ายด้วยเลนส์เทเล
 
 
 
 
พลุแต่ละชุดจุดสูงบ้างต่ำบ้าง สว่างบ้าง ต่างสีบ้าง แต่ผมจะเลือกถ่ายเฉพาะพลุที่ไม่ใช่สีขาวเพราะมันจะสว่างเกินไป มองช่องมองภาพเพื่อจัดองค์ประกอบไว้ก่อน จากนั้นก็รอจังหวะพลุเพื่อกดชัตเตอร์จากสายลั่น เราก็จะมองพลุโดยไม่ต้องมองช่องมองภาพได้
 
 

ภาพนี้ถูกคร็อปให้เป็นแนวตั้งเพราะองค์ประกอบจะดีกว่าเนื่องจากเป็นพลุกลุ่มใหญ่และจุดไล่ตามระดับความสูง เป็นการยิงชุดครั้งหนึ่งที่สวยตระการตาดี
 
 
 
 
พลุอีกแบบที่ยิงในแนวทะแยงจากศูนย์กลาง พลุแบบนี้ให้ความรู้สึกแบบเส้นเฉียง ถ้าจะให้ดีควรจะอยู่ในมุมด้านหน้าจึงจะเห็นว่ามันแผ่ แต่จากจุดที่อยู่มันเห็นการแผ่ได้เพียงเท่านี้
 
 
 
 
เพิ่มเติมเทคนิคการถ่ายภาพพลุมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้ครับ
 
 
 
1.ขาตั้ง ต้องใช้เสมอ ตรวจสอบตำแหน่งการตั้งขาให้มั่นคง ระวังคนที่ยืนอยู่รอบข้าง ระวังพื้นที่วางขาอย่าสั่นหรือขยับได้ โดยเฉพาะบนบพื้นไม้ ถ้ามีคนหรือตัวเราเองเหยียบอยู่ก็จะสั่น และพยายามอย่าตั้งแกนกลางขาตั้งให้สูงเนื่องจากจะทำให้สั่นไหวได้ง่าย
 
 
 
อ้อ....อีกสิ่งที่จะทำให้ภาพสั่นไหวคือ สายคล้องคอ หลังจากยึดตัวกล้องไว้บนขาตั้งกล้องแล้วควรเก็บสายไว้ดีดี อย่าให้มันแกว่งได้ ยิ่งถ้ามีลมมันจะเป็นตัวที่ทำให้ภาพสั่นไหว
 
 
 
2.สายลั่นชัตเตอร์ การมีสายลั่นชัตเตอร์ช่วยให้เราไม่ต้องมอง Viewfinder เพียงจัดองค์ประกอบตามความสูงของพลุ จากนั้นใช้ตาเปล่ามองเพื่อหาจังหวะกดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆ หมั่นตรวจสอบองค์ประกอบของพลุในแต่ละช่วงเพราะพลุจะจุดสูงบ้างต่ำบ้างตลอดเวลา
 
 
อย่าใช้นิ้วกดชัตเตอร์โดยตรง เพราะโอกาสสั่นไหวสูงมาก
 
 
3.ใช้ค่า F แคบ (เลขมาก F 8 , F11.....) เพื่อให้ได้ชัดลึก จากภาพชุดนี้ใช้ตั้งแต่ F22 เพื่อคุมระยะชัดลึกเนื่องจากถ่ายจากระยะไกล และได้เส้นของพลุเป็นสายไม่ใหญ่จนเกินไป
 
 

4.Shutter B กะจังหวะกดชัตเตอร์ตั้งแต่พลุเริ่มยิง (ได้หางพลุ หรือจะเรียกว่าต้นดีล่ะ อันนี้ไม่รู้ว่าเค้าเรียกกันยังไง) และรอจนกว่าพลุจะแตกตัวจนสุด (ได้ดอกพลุ) จังหวะของเวลาในการเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แสง ฉากหลัง องค์ประกอบโดยรวมของสภาพแวดล้อม ยิ่งแสงมากเวลาเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ก็ยิ่งน้อยลงให้สัมพันธ์กัน
 
 
กรณีมีพลุหลายดวงให้กะจังหวะการกดชัตเตอร์ตามความเหมาะสม อย่ารักพี่เสียดายน้อง เพราะไม่เช่นนั้น พลุจะตีกันมั่วไปหมด เหมือนบางภาพในอัลบั้มนี้

 
กรณีเปิดชัตเตอร์นานไปจะทำให้ปลายดอกพลุเริ่มตกเพราะเซ็นเซอร์ยังรับแสงอยู่
 
หลีกเลี่ยงการเปิดชัตเตอร์นานๆ เมื่อมีพลุสีขาวออกมาเพราะภาพจะโอเวอร์ได้
 
 
หลีกเลี่ยงการเปิดชัตเตอร์นานๆ กับพลุบางประเภท เช่น พลุลูกใหญ่มากๆ มีแสงเป็นจุดระยิบระยับ การเปิดชัตเตอร์นาน เมื่อปลายดอกพลุเริ่มตกลงจะเกิดเส้นสายของพลุจะพันกันกลายเป็นพุ่ม ไม่ใช่ดอก บางทีออกมาเป็นพุ่มเหมือนแมงกระพรุนเลย

 
5.โหมดโฟกัส ควรเป็นแมนนวลหรือตั้ง infinity เพราะการตั้ง Auto อาจจะเกิดความผิดพลาดจากการโฟกัสได้ง่าย เนื่องจากตำแหน่งพลุไม่แน่นอน
 
 
6.ISO100 เพื่อลด Noise เพราะยังไงก็มีขาตั้งกล้องอยู่แล้ว
 
 
7.สิ่งที่ไม่เป็นที่ปราถนาของผมคือ การถ่ายพลุที่เห็นแต่พลุกับฉากหลังดำๆ ควรหามุมที่มองเห็นวิวของสถานที่บ้าง เพื่อให้รู้ว่าเราถ่ายพลุในเหตุการณ์และสถานที่ใด อย่างกรณีนี้ผมอยากใช้เลนส์ไวด์ถ่ายภาพมากกว่า แต่จุดที่ตั้งกล้องอยู่ติดต้นไม้เลยทำได้แค่การใช้เลนส์เทเล ในสถานการณ์นี้ถ้าเราสามารถถ่ายให้เห็นอ่าวพัทยาก็จะทำให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของงานเพราะจัดที่พัทยาครับ และอ่าวโค้งๆ ของพัทยาคือจุดขายที่ดีที่สุดและชัดเจนที่สุด
 
 
ทั้งหมดเป็นความคิดส่วนตัวที่ใช้ในการถ่ายภาพเพราะลองผิดลองถูก ไม่ใช่ทฤษฎีวิชาการ ขอให้ใช้พิจารณาตามความเหมาะสมนะครับ

CCD vs CMOS ใครคือผู้ชนะ

กล้องดิจิตอลทุกตัว แน่นอนหัวใจสำคัญที่สุดอันหนึ่งที่จะทำให้กล้องตัวนั้นถ่ายทอดรูปออกมาได้สวยก็คงหนีไม่พ้น Sensor รับภาพ ซึ่งมีหน้าที่รับแสงที่เข้ามาแล้วเปลี่ยนค่าแสงนั้นๆเป็นสัญญาณดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันก็คงมี Sensor รับภาพอยู่เพียง 2 แบบใหญ่ๆเท่านั้น ซึ่งก็คือ CCD (ซีซีดี) และ CMOS (ซีมอส) ที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญในท้องตลาด


รูป CCD

รูป CMOS


CCD - CCD ย่อมาจาก Charge Coupled Device เป็น Sensor ที่ทำงานโดยส่วนที่เป็น Sensor แต่ละพิกเซล จะทำหน้าที่รับแสงและเปลี่ยนค่าแสงเป็นสัญญาณอนาล็อก ส่งเข้าสู่วงจรเปลี่ยนค่าอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิตอลอีกที
รูปแสดงการทำงานของ CCD
CMOS - CMOS ย่อมาจาก Complementary Metal Oxide Semiconductor เป็น Sensor ที่มีลักษณะการทำงานโดยแต่ละพิกเซลจะมีวงจรย่อยๆเปลี่ยนค่าแสงที่เข้ามาเป็นสัญญาณดิจิตอลในทันที ไม่ต้องส่งออกไปแปลงเหมือน CCD
รูปแสดงการทำงานของ CMOS
สรุปง่ายๆคือ CMOS จะมีวงจรแปลงสัญญาณแสงในแต่ละพิกเซลเลย ส่วน CCD ตัวรับแสงจะรับแสงอย่างเดียว และจะส่งค่าที่ได้ออกมาให้วงจรที่มีหน้าที่แปลงสัญญาณอีกที
ความเร็วในการการตอบสนอง
ในแง่นี้ CMOS จะเหนือกว่า เนื่องจากตัว CMOS จะแปลงสัญญาณเสร็จในตัวเอง ไม่ต้องส่งข้อมูลไปยังวงจรอื่นอีก
Dynamic Range (คุณภาพในการรับแสง)ในแง่นี้ CCD ได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากตัวรับแสงของ CCD มีแต่ส่วนรับแสงเพียงอย่างเดียว ต่างกับ CMOS ที่ต้องมีวงจรแปลงสัญญาณในแต่ละพิกเซลด้วย ดังนั้นถ้าในขนาดที่เท่ากัน ส่วนรับแสงของ CCD จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียพื้นที่ไปให้วงจรอื่นๆเหมือน CMOS
ความละเอียด
ตรงนี้ CCD ได้เปรียบอีกเช่นกัน เนื่องจากเหตุผลเดียวกันกับ Dynamic Range
การใช้พลังงาน
ข้อนี้ CMOS เหนือกว่าเนื่องจากสามารถรวมวงจรต่างๆไว้ในตัวได้เลย ต่างจาก CCD ที่ต้องมีวงจรแปลงค่าเพิ่มขึ้นมา
ดังนั้นพอจะสรุปได้คร่าวๆว่าในแง่ของการทำงาน (ความเร็ว การใช้พลังงาน) CMOS ได้เปรียบ ส่วนในแง่คุณภาพของภาพ CCD ได้เปรียบ
สาเหตุที่ผมไม่ใช้คำว่า 'เหนือกว่า' เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ช่องว่างข้อได้เปรียบของ Sensor ทั้ง 2 แบบ ถูกลดต่ำลง โดยหากจะย้อนกลับไปเมื่อซัก 3-4 ปีก่อน ตอนนั้นทุกคนก็คงคิดว่า CCD จะเอาชนะ CMOS ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องคุณภาพและความละเอียดที่พัฒนาได้ง่ายกว่า
แต่สิ่งที่ CMOS มีแล้วเป็นจุดสำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของ 'ต้นทุนที่ต่ำกว่า' เนื่องจากสามารถรวมทุกอย่างไว้ในวงจรเดียวได้เลย ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีการผลิตสูงขึ้น ทำให้หลายๆจ้าวเหลียวกลับไปมอง CMOS อีกครั้ง
แต่ถ้าจะถามว่า ในแง่ของผู้ซื้อ หากจะเลือกซื้อกล้องดิจิตอลซักตัว จะเลือกซื้อกล้องที่ใช้ Sensor แบบ CCD หรือ CMOS ดีกว่ากัน คงต้องตอบว่า 'ไม่ต้องไปสนใจครับ' หากว่ากล้องตัวนั้นถ่ายรูปออกมาแล้วความคมชัด-สีสัน ถูกใจคุณแล้วละก็ ชนิดของ Sensor ที่ใช้จะสำคัญตรงไหน
เหมือนเวลาเราจะเลือกแฟนซักคน ถ้านิสัยดี หน้าตาเรารับได้ อยู่ด้วยแล้วมีความสุขแล้วละก็ ........ เราจะไปสนใจทำไมละครับว่า 'เครื่องใน' เค้าเป็นยังไง
ถูกต้องไหมครับ !!!!!!!

เทคนิคการเลือกซื้อฟิลเตอร์ UV

ฟิลเตอร์ UV ถือเป็นฟิลเตอร์ที่มีการใช้งานมากที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่า มีหน้าที่ไว้คอยปกป้องไม่ให้เลนส์เป็นรอย  แต่จริงๆ แล้ว นั่นเป็นเพียงผลพลอยได้  เพราะประโยชน์ที่แท้จริงของฟิลเตอร์ UV นั้น คือ ทำให้ภาพถ่ายมีสีสันใกล้เคียงกับที่ตาเห็นมากที่สุด (จะเห็นได้ชัดจากกล้องฟิล์ม) นอกจากนี้ การเลือกเกรดฟิลเตอร์ UV นั้นยังมีผลโดยตรงต่อภาพ หากเลือกไม่ดีจะบั่นทอนคุณภาพเลนส์ ส่งผลต่อคุณภาพภาพ สีผิดเพี้ยน เกิดแฟลร์  ซึ่งหากจะเปรียบเลนส์เป็นดวงตา ฟิลเตอร์ UV ก็เหมือนกัแว่นตา  ซึ่งเลนส์แว่นตาก็มีหลายเกรด ถ้าดีหน่อยก็ย่อมจะใสปิ้งมองชัดเจน ถ้างบประมาณน้อยหน่อยก็อาจจะมัว เวียนหัวปวดตา  การเลือกฟิลเตอร์ UV ที่ถูกต้องนั้น จึงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเลนส์และความเหมาะสม ซึ่งแน่นอน ฟิลเตอร์ UV แพงๆ มักจะทำให้การใช้เลนส์ให้มีคุณภาพสูงสุดที่เลนส์ทำได้ โดยไม่บั่นทอนภาพให้คุณภาพต่ำลง   
แล้วต้องเลือกอย่างไรถึงจะเหมาะสม  และเนื่องจากฟิลเตอร์ UV มีหลายเกรด ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับฟิวเตอร์ UV กันก่อน
มารู้จักฟิวเตอร์ UV กันก่อน
ฟิลเตอร์ UV เป็นฟิลเตอร์ที่มีความสามารถในการลดรังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งจะช่วยให้ภาพที่ได้มีสีสันใกล้เคียงตาเห็นมากขึ้น เนื่องจากฟิลเตอร์ UV จะไปลดแสงสีฟ้า ที่เกิดจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตออกไป จะเห็นชัดในภาพที่ถ่ายจากฟิล์ม ดิจิตอลก็จะเห็นได้บ้าง ช่างภาพส่วนใหญ่จึงมักจะนิยมซื้อหามาติดหน้าเลนส์อยู่เสมอ และยังมีผลพลอยได้ในการปกป้องหน้าเลนส์ไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนอีกด้วย
ฟิลเตอร์ UV ที่มีขายในบ้านเรามีหลากแบบ หลายราคา ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงสามถึงสี่พันบาท ซึ่งคุณภาพชิ้นแก้ว และวัสดุที่ใช้ในการผลิต ย่อมแตกต่างกันไปตามราคา ซึ่งความแตกต่างของวัสดุตรงนี้ โดยเฉพาะชิ้นแก้ว จะส่งผลกระทบกับภาพที่ได้ แบบเห็นค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่นการเกิดแฟลร์ในภาพ (จำนวนแฟลร์จะมากน้อยขึ้นกับแฟลร์พื้นฐานของเลนส์ด้วย) สีสันของภาพถูกลดทอนลง
โดยการวัดคุณภาพของฟิลเตอร์ UV นั้น จะวัดกันที่ความสามารถในการให้แสงผ่านเป็นหลัก ส่วนเรื่องความทนทานของกรอบฟิลเตอร์ หรือเกลียว ถือเป็นปัจจัยรองลงมา
แล้วจะเลือกซื้อฟิลเตอร์ UV อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ฟิลเตอร์ UV ที่ดีดูอย่างไร  วิธีสังเกตง่ายๆ คือให้ดูจากแสงสะท้อน หากสะท้อนมากคุณภาพยิ่งไม่ดี และเนื่องจากราคาที่ถูก จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนของกรอบฟิลเตอร์ลง ทำให้ใช้โลหะคุณภาพต่ำในการผลิต เวลาใช้งานจึงมีปัญหาปีนเกลียว  เกลียวหวาน หรือปิดฝาไม่ได้
ถ้าจะแยกประเภทให้แห็นชัดเจน ฟิลเตอร์ UV ในเมืองไทย พอจะแยกประเภทได้คร่าวๆ ตามคุณภาพได้ดังนี้
ฟิลเตอร์ UV ประเภทแรก (คุณภาพต่ำสุด แสงสะท้อนมากสุด)
ฟิลเตอร์ราคาประหยัด (ส่วนใหญ่เป็นของแถม) ดูได้จากราคาในหลักร้อยบาท อย่างเช่น Hoya UV, Digitex, Marumi กล่องเหลือง, Kenko , Giottos  type Aฯลฯ มักจะใช้ทรายอุตสาหกรรมในการผลิตแก้ว หรือเทียบง่ายๆ กับกระจกใสที่ติดตามบ้านทั่วไป ซึ่งถ้ามองตรงๆ จะพบว่ามีแสงเงาสะท้อนขาวๆ ยิ่งถ้าฟิลเตอร์ UV ยี่ห้อไหนมีแสงสะท้อนกลับมาก อาจทำให้ผู้ใช้งานพาลคิดว่า เลนส์ไม่ดี  กล้องไม่ดี ต้องเสียเงินเปลี่ยนกล้องเปลี่ยนเลนส์กันเลยทีเดียว   
ฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สอง (คุณภาพดีปานกลาง)
ฟิลเตอร์ UV ระดับกลาง ราคาประหยัด เช่น Hoya UV HMC, Marumi กล่องแดง, Sigma DG UV , Giottos  type S ที่กระจกฟิลเตอร์มีการเคลือบผิวพิเศษ หรือที่เรียกกันว่าโค๊ท (Coated) ซึ่งมีทั้งเคลือบมาก เคลือบน้อย ตามระดับราคาของฟิลเตอร์ ซึ่งโค๊ทจะช่วยเพิ่มความสามารถในการให้แสงผ่านของชิ้นแก้ว บางยี่ห้อก็สีฟ้า เขียว เหลือง แล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิต และความสามารถในการให้แสงผ่านก็ต่างกันตามผู้ผลิตด้วย แต่ฟิวเตอร์ UV ชนิดนี้ก็มีข้อเสียการดูแลรักษาค่อนข้างลำบาก  เนื่องจากการเคลือบชิ้นแก้วจะเหมือนมีฟิล์มแผ่นบางๆ ติดอยู่บนผิวของแก้ว ซึ่งถ้าทำความสะอาดไม่ดี หรือมีอะไรไปกระทบ โอกาสที่โค๊ทจะหลุดสูง ซึ่งถ้าหลุดไปแล้ว รูที่แหว่งนั้นจะทำให้เกิดความไม่เท่ากันของแสง ทำให้โอกาสเกิดแฟลร์เป็นจ้ำๆ สูงกว่าฟิลเตอร์ UV ราคาถูกเสียอีก
ฟิลเตอร์ UV ในระดับนี้อย่างดีจะเป็นพวก Canon Protected, Nikon NC, Sigma UV EX, Hoya UV Pro I, Marumi กล่องทอง, Kenko Pro 1 D โดย 2 ยี่ห้อแรกจะใช้วัสดุคุณภาพสูงกว่า 4 ยี่ห้อหลัง (จริงๆ แล้วฟิลเตอร์ของ Canon กับ Nikon ความใสของเนื้อกระจกดีเท่ากับ B+W กับ Rodenstock ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าใช้งานมาซัก 5 ปี ความใสกระจกเริ่มเปลี่ยน เลยจัดมาอยู่ตรงนี้แทน และทั้ง 2 ตัวก็ไม่จัดว่าเป็น UV แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกัน ส่วนถ้าใครใช้ยี่ห้อ Hoya UV Pro I หรือคล้ายๆ แบบนี้แนะนำว่าเวลาเช็ดให้ระวังมากๆ เพราะถ้าโค๊ทหลุดก็คงต้องเสียเงินเปลี่ยนฟิลเตอร์ใหม่กันเลย
ฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สาม (คุณภาพดี)
ฟิลเตอร์เยอรมัน แบบไม่โค้ท จัดเป็นฟิลเตอร์ระดับกลางอีกแบบ ฟิลเตอร์ประเภทนี้ใช้วัสดุในการผลิตคุณภาพสูง แต่ไม่มีการเคลือบผิวเลนส์ หรือเคลือบน้อยชั้น เนื่องจากชิ้นแก้ว เป็นชิ้นแก้วที่ผลิตจากทรายสำหรับทำเลนส์โดยเฉพาะ ซึ่งมีค่าความใสสูงกว่ากระจกแบบธรรมดาทั่วไป ความสามารถในการให้แสงผ่านเท่ากันกับฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สอง แต่การดูแลรักษาง่ายกว่าเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องโค๊ทมากนัก (อายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป) กรอบฟิลเตอร์ UV ชนิดนี้ ทำจากเหล็กกล้าหรือทองเหลืองอย่างดี จะราคาสูงกว่าฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สองนิดหน่อย เช่น  B+W (Schneider) UV (ไม่มีโค๊ท แต่เนื้อแก้วใสมาก), กับ Rodenstock UV Coated (โค๊ทออกสีน้ำเงินฟ้า) ฟิลเตอร์ UV ประเภทนี้ความทนทานสูง ใช้งานได้ประมาณ 10 ปีสบายๆ ไม่มีปีนเกลียว แต่ระวังขันแน่นเกินไป ถ้าขันแน่นมากๆ จะเข้าไปเกาะจนขันแทบไม่ออก ตอนใช้ฟิลเตอร์ UV พวกนี้แรกๆ นึกในใจว่าซื้อมาแพงยังจะปีนเกลียวอีก ที่ไหนได้ พอใจเย็นๆ ค่อยๆ  ขันก็ออกมาได้โดยไม่เสียรูปและเกลียวยังสมบูรณ์
ฟิลเตอร์ UV ประเภทที่ สี่ ฟิลเตอร์ไฮโซ
ฟิลเตอร์ UV แบบนี้ดีที่สุด โดยการนำฟิลเตอร์ประเภทที่สาม มาเคลือบโค๊ทเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้แสงผ่านได้สูงที่สุด ราคาสูงที่สุด ความสามารถในการให้แสงผ่านเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ฟิลเตอร์ชนิดนี้ ถ้าใส่ไปที่หน้าเลนส์แล้ว มองตรงเข้าไปจะต้องมองไม่เห็นกระจกฟิลเตอร์เลย หรือเห็นน้อยมาก ทำให้รีดความสามารถของเลนส์ได้สูงที่สุด เท่าที่เคยเห็นในตลาดบ้านเรามี B+W UV MRC, Rodenstock UV MRC ครับ (สีของโค๊ทขึ้นกับขนาดหน้ากว้างฟิลเตอร์ หน้า 77 มม. จะเป็นน้ำเงินม่วง แต่ถ้าเป็น 52 มม. จะเป็นสีเหลืองอมเขียว) หากมองตรงๆ จะแทบมองไม่เห็นเนื้อกระจก
หลังจากทราบประเภทและเกรดของฟิลเตอร์ UV ไปแล้ว ทีนี้เราก็สามารถเลือกฟิลเตอร์ UV ที่เหมาะสมสำหรับเลนส์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกณฑ์ราคาฟิลเตอร์ UV ที่เหมาะสม จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1 ใน 10 ของราคาเลนส์ แต่ถ้าตั้งใจจะใช้เป็นการถาวร หรือใช้งานนานๆ งบประมาณไม่จำกัด ก็สามารถซื้อแบบดีที่สุดไปเลยก็ได้ เพราะมันจะมีผลกับภาพที่เราจะถ่ายต่อไปในอนาคต ฟิลเตอร์ญี่ปุ่นกับเยอรมันสังเกตง่ายๆ โดยฟิลเตอร์ญี่ปุ่นเน้นราคาถูก ขายง่าย เปลี่ยนบ่อยๆ ส่วนฟิลเตอร์เยอรมันจะเน้นคุณภาพสูง ขายแพง แต่ใช้นาน ดังนั้นจะเลือกฟิวเตอร์แบบไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จะซื้อฟิลเตอร์ UV เยอรมัน โค๊ทผิวดีสุดๆใสสุดๆ ไปใส่กับเลนส์คิท ที่ราคาเกือบเท่ากับฟิลเตอร์  อย่างนั้นสู้ไม่ใส่ฟิลเตอร์ พอพังก็ซื้อเลนส์ใหม่ยังดีกว่า หรือซื้อเลนส์เกรดดีๆ ตัวละหลายหมื่น มาใส่ฟิวเตอร์ UV อันละไม่กี่ร้อยบาท ภาพที่ออกมาแทนที่จะดีเท่าราคาเลนส์ที่จ่ายไป กลับถูกทอนคุณภาพด้วยฟิลเตอร์ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เสียของเปล่าๆ ค่ะ*
สรุป เทคนิคการเลือกซื้อฟิลเตอร์ UV
1. ราคาฟิลเตอร์ UV ต้องเหมาะสมกับราคาเลนส์ (ประมาณ 1 ใน 10 ของราคาเลนส์ )
2. ฟิลเตอร์เยอรมัน อายุการใช้งานทนทานกว่าฟิลเตอร์ญี่ปุ่น 2 เท่า ( 10 ปี UP)
3. คิดเสมอว่า การใส่ฟิลเตอร์ UV ก็เหมือนการประกอบเลนส์อีกชิ้น ดังนั้นฟิลเตอร์ UV มีผลต่อภาพ แต่ถ้าหากอยากได้ภาพที่รีดคุณภาพของเลนส์มากที่สุด แนะนำให้ถอดฟิลเตอร์
4. หากคิดจะซื้อราคา 100-200 มาใส่ แนะนำว่า ไม่ใส่จะดีกว่า
5. ถ้าคุณมีเงินเหลือเฟือ หรือหากินกับการถ่ายภาพ แนะนำให้ซื้อดีที่สุด รับประกันว่าง่ายต่อการทำงาน และคุ้มค่าเรื่องอายุการใช้งานค่ะ

เก็บกล้องอย่างไร ไม่ให้จากไปก่อนวัยอันควร

ฝนเอยฝนตก คางคกชอบใจ ร้องเพลงเรื่อยไป เพราะมันชอบใจน้ำนัก
ช่วงนี้ไม่รู้อากาศเป็นอะไร อากาศวิปริต กันเหลือเกิน เมษาหน้าร้อนอยู่ดีๆ แท้ๆ ฝนตก พายุเข้า ลมแรง ลูกเห็บตก แล้วก็กลับมาร้อนจนผิวไหม้ คนยังรับอากาศไม่ค่อยได้ แล้วกล้องจะไปทนได้อย่างไร
อากาศแปรปรวนที่ไร ก็ต้องปวดหัวกับการตอบคำถาม ของ คนรอบข้าง แล้วก็ต้องพูดซ้ำไปซ้ำมา อย่างกะเอาเทปมารีรันอยู่นั่นแหละ ก็เลยได้ฤกษ์งามยามดี เขียนไว้เป็นหลักฐาน เผื่อใครถามอีกจะได้ส่งลิงค์ให้ดูซะเลย เอาเป็นว่าเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก (ยิ่งใหญ่ไปรึเปล่า) ก็อุปกรณ์ดิจิตอลพวกนี้ มันถูกๆ เสียที่ไหน ยอมเสียตังค์ซื้อมาเพื่อความสุข และบางคนเพื่อทำมาหากินกันแล้ว ก็ต้องดูแลเค้าให้อยู่กับเรานานๆ ไม่ใช่จากไปก่อนวัยอันควร
ต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่โปรที่ไหน แค่เคยทำเลนส์ขึ้นราทั้งกระเป๋า ก็ไม่มากมาย 4 ตัวเอง (พูดไปน้ำตาไหลไป)  ทั้งฝ้าและรา แต่ที่เสียดายสุดๆ ก็คือกระเป๋าดมขี้( domke) สุดแสนไฮโซ มรดกคุณลุง ที่ราขึ้นจนต้องตัดใจลงถังไปอย่างไม่ใยดี เปรียบดังเช่น ไก่ได้พลอย หัวล้านได้หวี ลิงได้แก้ว มีของดีอยู่กับตัวไม่รู้จักรักษา จากนั้นมาก็เลยศึกษาๆ เรื่องการเก็บอุปกรณ์ดิจิตอลจะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำซ้อน  เพราะไม่ใช่คุณหนูไฮโซ ที่จะมีเงินถุงเงินถังที่ของพังก็ซื้อใหม่
เฮ้ออ....บ่นมาถึงตรงนี้เริ่มเหนื่อย (ขอพักกินน้ำแป้ปนึงค่ะ)

ท่านผู้อ่านบางคนคงอยากปิดหน้านี้ทิ้งไป หรือบางคนปิดไปตั้งแต่ย่อหน้าที่สองแล้ว แต่ขอบอกว่าท่านพลาด......ที่อ่านมาถึงตรงนี้ เพราะถ้าปิดตอนนี้ขอแช่ง ให้เลนส์ขึ้นรา ฝ้าเต็มเลนส์  เมนส์ไม่มา หมากัดน่อง ป่องก่อนกำหนด ตดก็ไม่เหม็น เอาเข้าไปสิ 555
ก่อนที่จะไร้สาระไปมากกว่านี้ เอาเป็นว่าเข้าเรื่องกันซะที ดีกว่า ก่อนอื่นต้องขอระบายความหงุดหงิดกับความเชื่อผิดๆ ที่ใครไม่รู้บอกต่อกันมา
อย่างแรก เก็บกล้องยิ่งแห้งเท่าไรยิ่งดี ใส่เข้าไปไอ้เจ้าซิลิก้าเจล เอาให้แห้งสุดๆๆๆ
อันนี้เป็นประสบการณ์ตรง จากคนรอบข้าง ท่านผู้อ่านที่ไปซื้อกล้องทัพเปอร์แวย์ กับซิลิก้าเจลเป็นถุงๆมาอัดลงในกล่อง เพราะมีความเชื่อว่า ซิลิก้าเจลซึ่งมีประสิทธิภาพดูดความชื้น ยิ่งใส่มากยิ่งดี บางคนอาจคิดขนาดว่า มันคือ ปุ๋ย บำรุงกล้องกันเลยทีเดียว  (เคยเห็นเบางคนเอาเม็ดๆ เทลงไปให้อุปกรณ์เหมือนใส่ปุ๋ยจริงๆนะ) อันที่จริงแล้วมันดีมากดีที่เลนส์ กล้อง และอุปกรณ์ดิจิตอลของเราจะไม่เป็นรา แต่อะไรต่างๆที่เป็นยางจะแห้งกรอบหมด สังเกตอาการเริ่มแรกได้จาก ยางที่กริ๊ปจับเริ่มแข็ง อายคัพเริ่มกรอบ หากเยียวยาไม่ทันคงถึงขั้นต้องเปลี่ยนกล้องใหม่ สรุป เป็นรายังล้างได้ แต่โค้ทหลุดนิดหน่อย แต่ยางกรอบเนี่ย ซ่อมแพงกว่าล้างอีก อาจถึงขั้นต้องเสียตังค์ซื้อใหม่
วิธีแก้ก็ไม่อยาก หากต้องการทำกล่องดูดความชื้นใช้เอง ก็แค่ต้องไปซื้อไอโกรมิเตอร์มาวัด ควบคุมให้อยู่ความชิ้นสัมพัทธ์ 35 -55 เพราะทุกอย่างต้องการความพอดี ดังที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เรื่องทางสายกลาง สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเขียน แต่ที่มีแน่ๆ คือศึกษาภัณฑ์ มีราคาตั้งแต่ สองร้อยถึง 4-5 ร้อยบาท
ความเชื่อผิดๆ อย่างที่สอง  กระเป๋ากล้องมีไว้เก็บกล้อง ไม่ว่าจะพกไปไหน หรือกลับมาถึงบ้านแล้วก็จะเก็บอยู่ในกระเป๋านั่นแหละ เพราะใส่ซิลิก้าเจลไว้ในกระเป๋าแล้ว ไม่ชื้นชัวร์
แต่อย่าลืม !!!!!
กระเป๋ากล้องถูกออกแบบมาให้กันกระแทก กระเป๋ากล้องแทบทั้งหมด จึงถูกบุมาด้วยวัสดุที่สะสมความชื้นได้ดี ดังนั้นถึงแม้ เราจะไว้วางใจ ให้ซิลิก้าเจลถุงเล็กๆ ทีเราจับโยนเพื่อควบคุมความชื้นในกระเป๋ากล้อง แต่ตราบใดที่ กระเป๋ากล้องของคุณไม่เป็นระบบปิด การหมุนเวียนของอากาศและความชื้นจากภายนอกยังวนเวียนได้อยู่ ก็เท่ากับว่า ซิลิก้าเจลถุงเล็กๆ ถุงนั้น  ควบคุมความชื้นของทั้งโลก และที่น่าตกใจที่สุดก็คือ หากซิลิก้าเจลถุงเดิม ดูดความชื้นเต็มเมื่อไหร่ มันก็จะคายความชื้นออกมา และอบอวลอยู่ในกระเป๋ากล้อง ที่บรรจุไปด้วยกล้องและเลนส์มูลค่าสูงของคุณนั่นเอง คิดตามแล้วขนลุกรึยัง บรึ๋ย.....
ซิลิก้าเจล สำหรับดูดความชื้น มีทั้งแบบ สีม่วง และสีขาว หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเขียน
ขู่มาซะยาว เข้าเรื่องซะที แล้ววิธีการเก็บกล้องที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร ?
ไม่ยากไม่ง่าย เพียงต้องการความใส่ใจนิดนึงค่ะ
วิธีแรก สำหรับ คนที่เอาเงินมาซื้อกล้องหมด ไม่มีงบเผื่อไว้ดูแลรักษามากมาย ' ไม่เสียตังค์'
 หลังจากเราเอาอุปกรณ์กล้องแสนรัก บุกตะลุย กันอย่างเต็มที่แล้ว กลับมาถึงบ้าน แนะนำให้เอาออกจากกระเป๋าทันที  ไปวางไว้ในที่แห้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก อาจจะเป็นห้องที่ติดแอร์ อย่างห้องนอน  เพราะอากาศจะแห้งกว่าปรกติ  แต่ไม่ใช่เอาไปวางไว้หน้าห้องน้ำนะคะ อ้อ กระเป๋าก็เอาไปตากแดดไล่ความชื้น นอกจากจะดีกับกล้องแล้วยังดีกับสุขภาพคนถือด้วยค่ะ
วิธีที่สอง ไฮโซขึ้นมาหน่อย เหมาะสำหรับคนเงินน้อยแต่รักจริง ' ไม่เกิน 1000 บาท '
 ให้หากล่องทัพเปอร์แวย์ ที่มีซีนยางที่ฝา ย้ำนะคะ ต้องมีซีนยางเพื่อให้เป็นระบบปิด แล้วหาซิลิก้าเจล (ขายเป็นกิโล) มาใส่ และที่ขาดไม่ได้คือไอโกรมิเตอร์ ห้ามลืมเด็ดขาดค่ะ
ข้อดีคือ สามารถเลือกขนาดของกล่องได้ใหญ่ตามใจชอบ  จะเลือกแบบกล่อง สีสวย หรือเก๋กิ๊ฟยังไงก็ตามสะดวกเลยค่ะ แต่ข้อเสียคือซิลิก้าเจลที่ใส่ลงไป มันมีอายุการใช้งาน ถ้าหาดดูดความชื้นไปเต็มเมื่อไหร่ เราต้องเอาไปคั่ว หรือเอาเข้าไมโครเวฟไล่ความชื้น เสียเวลาและต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ แถมเวลาจะดูไอโกรมอเตอร์ทีต้องเปิดฝา แนะนำว่าหากล่องแบบใสจะหมดปัญหาเรื่องนี้ค่ะ

ไอโกรมิเตอร์วัดความชื้นสัมพัทธ์ ควบคุมให้อยู่ ระหว่าง 35- 55
วิธีที่สาม ซื้อกล่องหรือตู้ดูดความชื้นเฉพาะไปเลยค่ะ  ' 2000'
 อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเลนส์และอุปกรณ์เยอะแค่ไหน และงบประมาณในกระเป๋าด้วยค่ะ  มีตั้งแต่กล่องดูดความชื้น ราคาตั้งแต่ สองพันบาท ที่คล้ายๆ กับกล่องวิธีที่สอง แต่ในกล่องจะมีระบบจัดการความชื้นที่ค่อนข้างสำเร็จรูป ลักษณะและวิธีก็แล้วแต่กล่องแต่ละรุ่น (ส่วนตัวใช้แบบนี้)  พอความชื้นเต็มก็เอาตัวซิลิก้าไปเสียบปลั๊กชาร์จ  มีไอโกรมิเตอร์ติดอยู่หน้ากล่อง สะดวกกับการควบคุม


อีกแบบที่เห็นในท้องตลาด คือกล่องแบบสุญญากาศ ปั้มลมออก มีทั้งแบบดิจิตอลและแบบเข็ม อันนี้เหมาะสำหรับพกพามากกว่า เพราะขนาดจะเล็กกว่าแบบแรก ใส่ของได้น้อย แต่ใช้พลาสติกที่แข็งแรงทนทาน มีหูหิ้ว พกไปไหนมาไหนได้สะดวก
กล่องดูดความชื้นสุญญากาศ แบบปั้มลมออก
วิธีที่สี่ รักจริง แถมมีอันจะกินด้วย ตู้ดูดความชื้นแบบเสียบปลั๊ก '4000 up'
เหมาะสำหรับผู้ที่มีอุปกรณ์มากมาย ที่ราคารวมๆ กันแล้ว หลักแสนหลักล้าน ก็แนะนำให้ซื้อแบบตู้เก็บความชื้น ที่เป็นดิจิตอล ตั้งความชื้นที่ต้องการได้ เสียบปลั๊กควบคุมความชื้นตลอดเวลาเลยค่ะ
สรุปแล้ว จะเลือกเก็บกล้องแบบไหน หลักง่ายๆ คือให้อยู่ไกลความชื้น  ที่สำคัญต้องไม่แห้งจนเกินไป  ดูให้ความชื้นสัมพัทธ์ อยู่ที่ประมาณ 35 -55 ส่วนจะเลือกเก็บวิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า และความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่มีค่ะ ไม่ใช่ว่าซื้ออุปกรณ์มาเป็น แสน แต่มาประหยัดกับการเก็บรักษา ของที่ซื้อมาแพงๆ ก็จะเสื่อมอย่างรวดเร็ว หรือลงทุนซื้ออุปกรณ์สำหรับเก็บกล้อง ราคาเท่าๆกับกล้องที่มีอยู่ อันนี้ก็ไม่คุ้มค่ะ ของทุกอย่างบนโลกนี้ ไม่มีอะไรดีที่สุด มีแต่เหมาะสมที่สุด ก็เลือกให้เหมาะให้ควร อย่าให้ถึงกับเดือดร้อนเลยค่ะ *

เช็ดเลนส์อย่างไรให้ใสปิ้ง

เคยมีเพื่อนฝากกล้องคอมแพ็คไปส่งเคลม เพราะอาการโฟกัสไม่ได้ ถ่ายออกมาภาพมัวๆ เบลอๆ ทั้งๆที่ซื้อกล้องมาได้ไม่ถึง 2 เดือน ยังคิดในใจ ทำไมกล้องมันเสียง่ายขนาดนี้ แต่เมื่อกล้องมาถึงมือก็ถึงบ้างอ้อ กล้องที่ว่าเป็นกล้องคอมแพ็คตัวเล็กๆ บางๆ ที่มีหน้าเลนส์จิ๋วๆ อยู่ทีมุมซ้ายมือของกล้อง ที่สำคัญ ที่หน้าเลนส์เต็มไปด้วยรอยนิ้วมือ ถ้าหากเป็นโจรแล้วทิ้งรอยนิ้วมือขนาดนี้ กองพิสูจน์หลักฐานคงตามตัวได้สบาย
 
สรุปสุดท้าย เลยทำความสะอาดให้ กล้องก็ใช้ได้ โฟกัสเป๊ะๆ ภาพชัดเจนเหมือนเดิม
 
เลยทำให้อยากเขียนคอลัมน์นี้ เพราะหวังว่าคงเป็นประโยชน์กับใครอีกหลายๆ คน ตั้งแต่คนใช้กล้องคอมแพ็คตัวเล็ก จนถึงกล้องตัวใหญ่ๆ เลนส์ตัวใหญ่ๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ แต่หากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี อาจทำให้อุปกรณ์ราคาแพงเสียหาย วิธีการดูแลทำความสะอาดที่ถูกต้องไม่ยากเลยค่ะ


 
ขั้นตอนแรกเรามาเตรียมอุปกรณ์กันก่อน มีไม่กี่อย่างแต่สำคัญมากค่ะ (แนะนำให้ซื้อพร้อมกล้องเลย)

1. กระดาษเช็ดเลนส์ (ใช้ครั้งเดียวทิ้ง) หรือผ้าเช็ดเลนส์ไมโครไฟเบอร์ (อ่อนนุ่มสามารถซักได้)
2. น้ำยาเช็ดเลนส์ มีขายทั่วไปตามร้านกล้อง อาจมีหลายคนเข้าใจผิด นำน้ำยาเช็ดแว่นไปเช็ดเลนส์ ซึ่งอาจทำให้โค้ทที่เคลือบผิวเลนส์หลุด เพราะเป็นโค้ทคนละชนิดกันค่ะ
3. ลูกยางเป่าลม เวลาเลือกซื้อต้องทดลองบีบ ต้องถนัดมือ และลมแรงพอที่จะเป่าฝุ่นที่ติดอยู่ที่เลนส์ได้
 
 
หลังจากเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว เรามาเริ่มทำความสะอาดเลนส์กันเลยดีกว่าค่ะ

สิ่งที่ควรจำไว้เสมอคือ ถ้าเลือกได้ เราควรใช้ลูกยางเป่าลมเป่าฝุ่นก่อน และเลือกวิธีการเช็ดหน้าเลนส์ หรือฟิวเตอร์ เป็นอันดับสุดท้าย เพราะการเช็ดแต่ละครั้งมีโอกาสทำให้โค้ทที่เคลือบผิวเลนส์ หรือฟิวเตอร์หลุดหรือเป็นรอย

แต่ถ้าเป่ายังไงฝุ่นเจ้ากรรมก็ยังไม่ออก หรือมีจำพวกคราบน้ำมันคราบนิ้วมือก็จำเป็นต้องเช็ดแล้วค่ะ
 
 
ขั้นตอนของการเช็ดก็ไม่ยาก เพียงแต่ต้องทำอย่างเบามือ และระมัดระวังนิดหน่อยค่ะ
 
ก่อนอื่นใช้ลูกยางเป่าลมเป่าฝุ่นออกจนหมด

 

จากนั้นนำผ้าไมโครไฟเบอร์ หรือกะดาษเช็ดเลนส์ มาหยดน้ำยาทำความสะอาดเลนส์ ข้อดีของกระดาษเช็ดเลนส์คือมั่นใจว่าสะอาดแน่นอน เพราะใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ข้อเสียคือกระดาษจะเนื้อหยาบกว่าผ้าไม่โครเเบอร์และสิ้นเปลืองมากกว่า เพราะผ้าเมื่อสกปรกสามารถนำไปซักและนำกลับมาเช็ดได้อีกครั้ง แต่ก็มีข้อควรระวังคือเราต้องมั่นใจจริงๆ ว่าผ้าสะอาดไม่มีฝุ่นติด ไม่เช่นนั้นฝุ่นอาจจะไปขูดที่ผิวหน้าเลนส์ได้ค่ะ
 
 
หยดน้ำยาเช็ดเลนส์ไปที่ผ้าเช็ดเลนส์หรือกระดาษ จัดการเช็ด(อย่ากดแรงเดี๋ยวเป็นรอย) เริ่มจากจุดตรงกลาง วนเป็นก้นหอยออกข้างนอกค่ะ ไม่ต้องตกใจถ้ายังมีคราบน้ำยาหรือคราบน้ำมันหลงเหลืออยู่ เพราะคงไม่หมดไปในครั้งแรก เราทำซ้ำอีกครั้งด้วยวิธีเดิมคือเช็ดเป็นก้นหอยเริ่มจากตรงกลางค่ะ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนมุมผ้า หรือกระดาษ เพราะฝุ่นที่เราเช็ดติดออกไปเมื่อครั้งแรก อาจจะขูดหน้าเลนส์ได้ค่ะ เช็ดไปจนกว่าจะใสปิ้งค่ะ แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ยิ่งเช็ดน้อยเท่าไร ความเสี่ยงที่ทำให้เลนส์เป็นรอยยิ่งน้อยลงเท่านั้นค่ะ
 
ข้อควรระวังอีกนิด คืออย่าเช็ดโดยไม่มีน้ำยาเช็ดเลนส์นะคะ อาจถึงกับต้องเปลี่ยนกล้องใหม่เลนส์ใหม่ เพราะโค้ทหลุด มีกรณีตัวอย่างมาแล้วค่ะ
 
 
หลังจากเช็ดแล้วอาจจะมีฝุ่นหลงเหลืออยู่นิดหน่อย จัดการนำลูกยางเป่าลมเป่าฝุ่นออกก็เป็นอันเสร็จพิธีค่ะ เห็นมั้ยคะไม่ยากเลย ใช้ได้กับทั้งเลนส์กล้องใหญ่ๆ ไปจนถึงกล้องคอมแพ็คค่ะ หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะคะ

ครอบครัวคน น่ารัก ^^