10 กุมภาพันธ์ 2554

นวัตกรรม10-การผลิตคอนกรีต ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

คอนกรีตนั้นเป็นวัตถุดิบที่นิยมใช้กันมากที่สุด ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ มานานมากกว่า 2 พันปีแล้ว เพราะนอกจากจะปั้นหรือหล่อเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย คอนกรีตยังมีความแข็งแรงทนทานและยืดหยุ่นได้ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม การผลิตคอนกรีตนั้นเป็นกระบวนการที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เวลานี้จึงมีการพยายามคิดหาวิธีผลิตคอนกรีต แบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ไม่ลดคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ด้านอื่นๆ ของคอนกรีต

นั่นคือเสียงของอาจารย์ Christian Meyer หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่บอกเล่าถึงความแข็งแรงทนทานของคอนกรีต ซึ่งชาวโรมันได้นำมาใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น วิหาร Pantheon เมื่อราว 2 พันปีที่แล้ว และยังคงยืนหยัดข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ Meyer ยังบอกด้วยว่า คอนกรีตนั้นมีราคาถูกกว่าวัสดุก่อสร้างชนิดอื่นๆ และยังสามารถหาซื้อได้ง่าย นั่นเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศทั่วโลก ต่างนิยมใช้คอนกรีตในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน

ในแต่ละปีมีการผลิตคอนกรีตทั่วโลกนับพันๆ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน หรือทราย และปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตคอนกรีตนั้นสร้างภัยคุกคามสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ในการผลิตปูนซีเมนต์จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนถูกปล่อยออกมาด้วย โดยในการผลิตปูนซีเมนต์ 1 เมตริกตัน หรือ 1 พันกิโลกรัม จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาราว 1 เมตริกตัน เช่นกัน โดยจะมาจากการผสมซีเมนต์ และการหลอมรวมสารเคมีต่างๆ ที่เป็นส่วนผสม เช่น หินปูน ดินเหนียว แร่เหล็ก และแร่ธาตุอื่นๆ ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 1500 องศาเซลเซียส ตลอดจนการเผาน้ำมันและถ่านหินเพื่อใช้เป็นพลังงาน เชื่อกันว่ากระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 7% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่มาจากภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก

อาจารย์ Christian Meyer แนะนำว่า วิธีที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตคอนกรีตนั้น ก็คือ ลดการใช้ปูนซีเมนต์ แล้วหันไปใช้วัตถุดิบอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายปูนซีเมนต์แทน ซึ่งตัวอย่างวัตถุดิบที่รู้จักกันดีก็คือ fly ash หรือขี้เถ้าลอย ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ของถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็งอื่นๆ

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้นี้ บอกว่า ขี้เถ้าลอยมีคุณสมบัติคล้ายปูนซีเมนต์ สามารถผสมรวมเข้ากับน้ำและซีเมนต์แล้ว ผลิตเป็นคอนกรีตได้ดีกว่าการใช้ปูนซีเมนต์เพียงอย่างเดียว และยังมีราคาถูกกว่าปูนซีเมนต์อีกด้วย คาดว่าในอนาคตอาจมีการวางแผนให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อที่จะสามารถนำขี้เถ้าลอยซึ่งเป็นของเสียจากโรงไฟฟ้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตปูนได้ทันที และนอกจากขี้เถ้าลอยแล้วยังมีการพัฒนาปูนซีเมนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมแบบอื่นๆ เช่น การผสมอนุภาคไทแทเนียมออกไซด์ ลงในซีเมนต์เพื่อลดมลพิษในอากาศ หรือปูนซีเมนต์สีขาว ที่อาจนำมาย้อมเป็นสีอื่นๆ ใช้แทนสีเทา ช่วยลดมลพิษทางสายตาได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ความพยายามในการคิดค้นคอนกรีตสีเขียว เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกในปัจจุบัน และอนาคต.

นวัตกรรม9-จะมีรถบินได้ให้ใช้กันในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว

รถยนต์บินได้เป็นเรื่องในจินตนาการของมนุษย์เรามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายอิงวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องสปายสายลับเก่งเกินคนธรรมดาๆ อย่างเจมส์ บอนด์

แต่อีกไม่นานเกินรอจะมีรถยนต์บินได้ออกขาย เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งสำหรับการคมนาคม

รถยนต์บินได้ที่แสดงในงานนิทรรศการอากาศยานในรัฐวิสคอนซิน เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่หรูหราเหมือนรถ Aston-Martin ที่เจมส์ บอนด์ ขับให้เห็นในหนัง แต่บินได้นานกว่ารถของสายลับ 007

คุณ Steve Saint บอกว่า รถยนต์บินได้ที่เขาคิดค้นขึ้นมาและตั้งชื่อว่า “Maverick” ก็คือรถยนต์เราดีๆ นี่เอง แต่สามารถบินได้ด้วย และใช้เวลาเรียนสักสองชั่วโมง ใครๆ ก็บินกับรถคันนี้ได้

คุณ Steve เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท I-Tec ย่อมาจาก Indigenous Peoples Technology Education Center หรือศูนย์การศึกษาและเทคโนโลยีสำหรับคนพื้นเมือง รถ Maverick ของ I-Tec หน้าตาไม่เหมือนม้า แต่คล้ายๆ รถขับตามชายหาด และเวลาจะบินต้องกางร่มลักษณะเหมือน parasail
คุณ Steve คิดค้น Maverick ขึ้นมาสำหรับใช้เดินทางไปตามที่ทุรกันดาร เป็นป่าเขาและไม่มีถนน ถ้าขับ Maverick ตามถนนธรรมดา สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อกางร่มบินแล้ว เพดานบินขึ้นสูงได้ 100 เมตร และความเร็วราวๆ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คุณ Steve บอกว่า รถบินได้ของเขาอาจจะบินได้ไม่สูงและไม่เร็ว แต่ก็เป็นประโยชน์ในการเดินทางเข้าถึงผู้คนในบริเวณห่างไกลตามชายแดน โดยเฉพาะป่าะอเมซอนในประเทศ Equador ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นที่ที่เขาเติบโตขึ้นมา

ส่วนคุณ Anna Dietrich เจ้าหน้าที่ผู้บริหารงานของบริษัทเครื่องบิน Terrafugia นำเครื่องบินควบรถยนต์ของบริษัท ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Transition” มาแสดงให้เห็นว่า ยานพาหนะจากฐานเดียวกันนี้จะบินหรือขับก็ได้ และใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีพับปีกขึ้น และเข้าจอดในโรงรถที่บ้านได้เลย

รถทั้งสองคันนี้ทดสอบแล้วทั้งคู่ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบินได้จริง

แต่กระนั้นนักบินและผู้ที่สนใจการบินก็ยังเกี่ยงงอนในเรื่องการออกแบบ

คุณ John Monnett ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องบิน Sonex ซึ่งกำลังออกแบบสร้างเครื่องบินไฟฟ้า บอกว่า มาตรฐานการสร้างเครื่องบินนั้นแตกต่างจากรถยนต์ เมื่อผสมเข้าด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่โดดเด่น

คุณ Anna Dietrich ผู้บริหารบริษัท Terrafugia ไม่เห็นด้วยและว่า รถยนต์บินได้ของบริษัท ประสานประโยชน์ของรถยนต์กับเครื่องบินได้เป็นอย่างดี “Transition” รุ่นแรกจะมีออกมาให้ขับและบินได้ในอีก 18 เดือนข้างหน้า ในราคาประมาณสองแสนดอลลาร์ หรือราวๆ หกล้านหกแสนบาท

ก็อาจจะต้องมีเงินเดือนอย่างเจมส์ บอนด์ จึงจะคิดซื้อหามาขับกับเขาได้

นวัตกรรม8-นักวิจัยสร้างเครื่องมือเพื่อส่งรูปสามมิติเสมือนจริง



นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอริโซนาที่เมืองทูซอน พัฒนาระบบการส่งภาพสามมิติเสมือนจริงหรือ holograph จากระยะไกล ซึ่งผู้รับในอีกสถานที่หนึ่งจะสามารถเห็นภาพได้โดยไม่ต้องใช้แว่นสามมิติ นักวิทยาศาสตร์อาศัยกล้อง 16 ตัว ในรูปครึ่งวงกลมเพื่อถ่ายภาพบุคคลหรือสิ่งของนั้นในมุมต่างๆ กันและส่งข้อมูลทางระบบอินเตอร์เน็ต จากนั้นระบบเลเซอร์ในจุดที่รับภาพจะถอดรหัสข้อมูล และสร้างภาพสามมิติขึ้นบนแผ่นวัสดุพลาสติคชนิดใหม่

นักวิจัยบอกว่า วิธีส่งภาพสามมิติเสมือนจริงจากระยะไกลนี้จะช่วยลดความจำเป็นในการเดินทางเพื่อร่วมการประชุม และยังเป็นประโยชน์สำหรับการตรวจทางการแพทย์จากระยะไกล รวมทั้งสำหรับเกมส์หรือระบบความบันเทิงแบบใหม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ระบบที่สร้างขึ้นในขณะนี้ยังส่งภาพสามมิติได้ช้ามาก และการสร้างภาพสามมิติที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นจะทำได้ด้วยการเพิ่มจำนวนกล้องเข้าไป และจะต้องใช้แผ่นจอพลาสติกขนาดสูง 182 ซม. แทนจอภาพสำหรับเครื่องต้นแบบซึ่งมีความสูงเพียงแค่ 25 ซม. ในปัจจุบัน นักวิจัยคาดว่าหากการพัฒนาระบบเป็นไปตามที่คาดไว้ ระบบวิดีโอเพื่อส่งภาพสามมิติเสมือนจริงจากระยะไกล หรือ holographic telepresence นี้จะมีให้ใช้งานได้ภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้.

นวัตกรรม7-เฮลิคอปเตอร์ชาวนาประดิษฐ์พร้อมขึ้นบินแล้ว

เฮลิคอปเตอร์ “โฮมเมด” ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวนาเวียดนาม 2 คน อยู่ในขั้นตอนเตรียมการขั้นสุดท้าย เพื่อทดลองขึ้นบิน ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะมีโอกาสพัฒนาเพื่อให้เป็นพาหนะราคาถูก ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร และการคมนาคมในดินแดนที่ห่างไกล 
       
       ถ้าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเฮลิคอปเตอร์ลำประวัติศาสตร์ของชาติที่ประดิษฐ์โดยชาวนาใน จ.ไตนิง (Tay Ninh) อาจจะได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองบินในกลางเดือน เม.ย.นี้
       
       เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่เทคนิคและตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ไปทดสอบอากาศยานดังกล่าวที่ อ.เติ่นโจ่ว (Tan Chau) และ พบว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 100% เครื่องยนต์เดินได้เรียบดีและมีเสถียร โรเตอร์ (ใบพัด) หมุน 180 รอบต่อนาที ดัชนีบ่งชี้ต่างๆ ได้มาตรฐาน
       
       ทีมของกระทรวงกลาโหมที่นำโดย พล.ต.เหวียนดึกซวาย (Nguyen Duc Soai) รองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพประชาชนเวียดนาม ได้ไปทดสอบความพร้อมต่างๆ และพบว่าสิ่งประดิษฐ์นี้มีคุณภาพน่าพอใจ
       
       ที่สำคัญยิ่ง ก็คือ เฮลิคอปเตอร์เวียดประดิษฐ์ลำดังกล่าว ได้มาตรฐานป้องกันการสั่นสะเทือนขณะติดเครื่องอยู่พื้นดิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของอากาศยานชนิดนี้
       
       ช่างเทคนิคอีก 2 ทีม กำลังจะเดินทางไปยัง จ.ไตนิง ในสัปดาห์นี้ เพื่อทดสอบให้แน่ใจอีกรอบ ก่อนที่กระทรวงกลาโหมจะอนุญาตขึ้นทะเบียนให้เป็นอากาศยานที่อยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส ภาษาเวียดนาม

 
นายซ-แวง พร้อมจะทำหน้าที่กัปตันด้วยความมั่นใจ  
 
 
       นายเจิ่นก๊วกหาย (Tran Quoc Hai) กับ นายเลวันซ-แวง (Le Van Danh) สองชาวนานักประดิษฐ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้แสดงความสนใจต่อสิ่งประดิษฐ์ของพวกเขา
       
       อย่างไรก็ตาม ชาวนาทั้งสองคนนี้อยากจะให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกที่เปิดกว้างยิ่งกว่านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความสามารถในการคิดประดิษฐ์สร้างด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
       
       นายหาย กับ นายซ-แวง ได้ประดิษฐ์อากาศยานลำนี้มาตั้งแต่ปี 2547 และได้พยายามขออนุญาตขึ้นบินมาตลอด แต่ไม่มีหน่วยงานใดกล้ารับรองความปลอดภัย จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาจึงได้รับความสนใจจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่
       
       วันที่ 23 ม.ค.ปีนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการทดสอบ
       
       ชาวนาที่ไม่ธรรมดาทั้งสองคนนี้ ได้ทุ่มเททุนรอนไปราว 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้ ฮ.ประดิษฐ์ลำนี้สามารถบินได้ และยังได้เช่าที่ดินของเพื่อนบ้านเป็นเงินอีก 2,500 ดอลลาร์ เพื่อใช้เป็นลานทดสอบในการขึ้นบิน ทั้งนี้ เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟง (Tien Phong)

นวัตกรรม6-การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์แบบที่ไม่ต้องมีแพทย์ควบคุม

ข้อมูลโดย VOA News ภาคภาษาไทย :::



การตัดเนื้อเยื่อบางส่วนในร่างกายด้วยการสอดเข็มเพื่อนำเนื้อเยื่อไปตรวจนั้น มักจะเป็นวิธีการแรกที่แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผ่าตัดใหญ่โดยไม่จำเป็น โดยแพทย์จะสอดเข็มที่มีท่ออยู่ด้านในเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจออกมา

ล่าสุดนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Duke ทดลองใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพจำลองทางคอมพิวเตอร์มาใช้ร่วมกับกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) โดยเริ่มจากการจำลองภาพอกไก่งวงขึ้นมาแทนทรวงอกของมนุษย์ และจึงจำลองผลองุ่นลูกหนึ่งแทนก้อนเนื้องอกใส่ในอกไก่งวงนั้น จากนั้นจึงทดลองให้หุ่นยนต์ตัดเนื้อเยื่อที่ต้องการจากก้อนเนื้องอกเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

ศาสตราจารย์ Stephen Smith แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ รังสีวิทยา และฟิสิกส์การแพทย์ มหาวิทยาลัย Duke รัฐ North Carolina อธิบายว่า หลังจากค้นพบก้อนเนื้องอก คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์จะสั่งการไปยังหุ่นยนต์ให้สอดเข็มลงไป เพื่อเก็บเซลล์เนื้อเยื่อออกมาได้อย่างง่ายดายและถูกต้องแม่นยำ โดยสามารถระบุตำแหน่งและจัดการตัดเนื้อเยื่อได้ภายในระยะห่างเพียง 2 มิลลิเมตร จากตำแหน่งใจกลางของเนื้องอกก้อนนั้น

ศาสตราจารย์ Smith ชี้ว่า เครื่องมือใหม่นี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวินิจฉัยโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากได้ตั้งแต่เริ่มปรากฎอาการ และหวังว่าในอนาคตจะมีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์รังสีวิทยา นักวิจัยผู้นี้บอกว่า เห็นภาพรถพยาบาลคันหนึ่งวิ่งไปตามเมืองต่างๆ ภายในรถมีเครื่องฉายเอ็กซเรย์แมมโมแกรม และหากคอมพิวเตอร์ตรวจพบก้อนเนื้อผิดปกติในผู้ป่วยคนไหน หุ่นยนต์ที่อยู่ภายในรถก็สามารถเริ่มกระบวนการเก็บเนื้อเยื่อของคนไข้ออกมาวินิจฉัยได้ทันที

ปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อด้วยวิธีสอดเข็มใช้เวลาประมาณ 1 นาที และต่อไปจะสามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อวิทยาการต่างๆ รุดหน้ามากกว่าเดิม ทางด้านนายแพทย์ Vipul Patel แห่งสมาคมการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้การผ่าตัดในอนาคต ง่ายดายขึ้นและแม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บน้อยลง โดยเป้าหมาย คือ การนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผ่าตัดแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์ Patel ระบุว่า เวลานี้ผู้ป่วยราว 85% ได้รับการผ่าตัดด้วยการช่วยเหลือจากหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องเกินความคาดหมายหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน โดยก้าวแรกที่สำคัญ คือ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยไร้กังวลเมื่อต้องรับการผ่าตัดจากหุ่นยนต์

ปัจจุบันการทดลองใช้เทคโนโลยีเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อโดยหุ่นยนต์แบบไม่ต้องมีแพทย์ควบคุม กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี เชื่อว่าจะมีการทดสอบกับผู้ป่วยจริงได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ในช่วงไม่เกิน 10 ปีนี้.

นวัตกรรม5-ญี่ปุ่นพัฒนาหุ่นยนต์ "ตั๊กแตน" ยักษ์!!!

ข้อมูลโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ ARiP.co.th :::



Air Hopper เป็นหุ่นยนต์เลียนแบบการเคลื่อนที่ของตั๊กแตน แม้หน้าตาของมันจะดูไม่เหมือนสักเท่าไรก็ตาม Air Hopper จะมีสี่ขาที่แข็งแรงมาก สามารถดีดตัวเองให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือกระโดดสูงในแนวดิ่งได้ เท้าทั้งสี่ของมันยังติดล้ออีกด้วย นั่นหมายความว่า เวลาที่มันกระโดดไปข้างหน้า เมื่อลงถึงพื้นแรงเฉื่อยที่อยู่ในตัวจะพาให้มันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยล้อได้อีก (กรณีพื้นเรียบ) คุณสมบัติของหุ่นยนต์ตั๊กแตนก็คือ มันสามารถกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง (เพื่อสอดแนม หรือช่วยเหลือคนที่อยู่ด้านหลังกำแพงกั้นในสงคราม หรือกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ ก็ได้) แทนการปีนไต่ ความลับของกลไกการทำงานก็คือ ท่อลมแรงดันสูงสีน้ำเงินที่จะดันขาสีดำให้กดพิื้น เพื่อดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว



ในการทดลองการทำงานของหุ่นยนต์พบว่า Air Hopper สามารถกระโดดไปข้างหน้าได้ไกล 70 ซม. ที่ระดับความสูงจากพื้น 40 ซม. ตัวหุ่นยนต์ทำจากพลาสติก โดยลำตัวมีความยาว 1.29 เมตร สูง 52.2 ซม. และหนัก 32.4 กก. โห...หนักขนาดนี้ กำลังขาของหุ่นยนต์ต้องดีมากๆ ทีเดียวนะเนี่ย.

นวัตกรรม4-การสร้างและพัฒนาสื่อ/นวัตกรรม

มี เพื่อนครูหลายคนสอบถามถึงขั้นตอน/วิธีการ การสร้างและพัฒนาสื่อ/นวัตกรรม จึงอยากเล่าให้ฟัง ตั้งใจว่าจะให้เข้าใจง่ายที่สุด  แต่จะได้ขนาดไหนลองติดตามดูนะครับ
            เนื่องจากสื่อฯ มีหลายรูปแบบ  เรื่องแรกเลยคือประเภทของสื่อที่เราเลือก โดยหลักการแล้วจะต้องเลือกประเภทของสื่อให้เหมาะสมกับเด็ก เหมาะสมกับเนื้อหา/ธรรมชาติวิชาของกลุ่มสาระที่รับผิดชอบ(ในความเป็นจริงต้องเลือกที่เราถนัด/ทำได้ด้วย) ถ้าในสภาพปัจจุบันสื่อประเภท ICT จัดว่าเป็นสื่อที่ทันสมัยและยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า แปลกใหม่สำหรับนักเรียน(รวมถึงคนตรวจ)  อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงสื่อ ICT  ตัวเนื้อหาก็ต้องมาจากเอกสารอยู่ดี  ในที่นี้จึงขอแนะนำสื่อประเภทเอกสารประกอบการสอน(บางสำนักเรียกเอกสารประกอบการเรียน) ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่สื่อ ICT ได้
            ขั้นตอนการสร้าง
            ก่อนอื่นต้องศึกษารูปแบบ/องค์ประกอบของเอกสารประกอบการสอนก่อน ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านเขียนไว้แล้ว แต่โดยรวมสื่อประเภทนี้ควรจะต้องมี
แบบทดสอบก่อนเรียน..เนื้อหา(เป็นเรื่องๆ)..แบบฝึก(แต่ละเรื่อง)..แบบทดสอบหลังเรียน  ส่วนที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องได้มาตรฐานตามหลักวิชาคือ แบบทดสอบมีคุณภาพ  เนื้อหาถูกต้องตามหลักวิชา  สื่อฯผ่านการทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพ  ซึ่งมีวิธีการพัฒนาดังนี้
            ก่อนลงมือทำ ขั้นแรก ต้องศึกษาหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง หลักการ/จิตวิทยาการเรียนรู้ รวมถึงความแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  แล้วรวบรวมเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นำมาเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องกับที่กล่าวมา จากนั้นจัดทำแบบฝึก(หรือจะใช้คำในชื่ออื่นเช่นแบบฝึกหัดก็ได้) และแบบทดสอบ(เพื่อใช้สำหรับเป็นแบบทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน-โดยจัดทำจำนวนข้อสอบให้มีจำนวนมากกว่าจำนวนที่เราต้องการไว้ก่อน) สุดท้ายของขั้นนี้คือเตรียมจัดลำดับรูปเล่มของเอกสารไว้(พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข) 
            นี่เป็นขั้นตอนเบื้องต้น ลำดับต่อไป เตรียมนำเครื่องมือไปหาคุณภาพ ในที่นี้ ได้เครื่องมือ 2 ประเภท คือ เครื่องมือที่ใช้ทดลอง(สื่อเอกสารประกอบการเรียน) กับเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล(แบบทดสอบ)
            หาคุณภาพของแบบทดสอบ
        
            1) การหาค่าความตรง(Validity) ที่นิยมคือ การหาความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3-5 คน ด้วยวิธีคำนวณค่าดัชนีของความสอดคล้อง(IOC)            2) การหาค่าความยากง่าย(P)และค่าอำนาจจำแนก(r)  วิธีการคือนำแบบทดสอบที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของสื่อ และมีจำนวนมากกว่าข้อสอบที่จะใช้ในสื่อ  นำไปทดสอบกับนักเรียนระดับเดียวกัน(ที่ไม่ใช่กลุ่มที่จะใช้สื่อ) ตามหลักวิชาบอกว่าจำนวนนักเรียนที่นำข้อสอบไปทดสอบต้องมากกว่า 100 คน(บางตำรา บอก 30 คนก็ได้) จากนั้นนำผลการสอบมาคำนวณหาค่า P,r ถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องจ้างคนทำ(ทำเองก็ไม่ยากมีโปรแกรมฟรีของ อ.สาคร  แสงผึ้ง http://www.nitesonline.net/  ผู้เขียนทดลองแล้วไม่ยาก)  เมื่อได้ผลการคำนวณแล้วก็นำข้อสอบมาเลือกข้อที่ใช้ได้ (ค่า P ระหว่าง .20-.80 ที่ดีที่สุดคือ .50 ,ค่า r มีค่า .20 ขึ้นไป ค่านี้ยิ่งมากยิ่งดี) ตามจำนวนที่เราจะใช้ในสื่อของเรา แล้วเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ใช้ในการเขียนรายงาน
            3) หาค่าความเที่ยง(Reliability) หรือความเชื่อมั่น โดยนำแบบทดสอบที่ได้จากข้อ1-2 ไปทดสอบกับนักเรียนกลุ่มอื่นอีกครั้ง จากนั้นก็นำมาหาค่าความเที่ยงโดยใช้สูตร KR-20 หรือ KR-21 ของคูเดอร์ ริชาร์ดสัน(สำหรับแบบทดสอบที่ให้คะแนนเป็น 0 กับ 1)
           
            (แบบทดสอบที่ได้นี้ใช้เป็นทั้งแบบทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน แต่สลับข้อหรือสลับตัวเลือก หรือทั้งสองอย่าง)
            ต่อไปจัดทำต้นฉบับ อันนี้ก็ต้องมีตามรูปแบบ ซึ่งควรได้แก่
ปกนอก...ปกใน...คำนำ...สารบัญ...คำชี้แจง...แบบทดสอบก่อนเรียน...เนื้อหา(ใบความรู้)...แบบฝึก...เนื้อหา(ใบความรู้)...แบบฝึก...
แบบทดสอบหลังเรียน
เอกสารอ้างอิง...ภาคผนวก(ถ้ามี..อาจเป็นเฉลย/คู่มือครู-ส่วนนี้จะตัดออกถ้าเป็นเอกสารสำหรับนักเรียน หรือจัดทำคู่มือครูแยกต่างหากก็ได้)
            เมื่อได้ต้นฉบับแล้วเราต้องนำไป
            หาประสิทธิภาพของสื่อ

            วิธีการ อย่างง่ายเลยคือนำสื่อ(เอกสารประกอบการสอน)พร้อมแบบตรวจหรือประเมินไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ(คศ.3 หรือ ป.โท สาขาเรา..บางคน
เรียก ผู้เชี่ยวชาญ) 3 หรือ 5 คนดูความตรงเชิงเนื้อหา (แบบตรวจหรือประเมินเท่าที่พบมี สองแบบ คือ แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ กับ ค่าดัชนีของความสอดคล้อง IOC 3 ระดับ) ตรงนี้ก็เรียกได้ว่า หาค่าความตรง(หรือความเที่ยงตรง)ของเครื่องมือ
            ถ้าจะให้แน่นอนขึ้นอีกก็ต้องนำสื่อนี้ไปทดลองใช้จริงกับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มที่เราจะทดลอง  อย่างน้อย  30 คน(ตามตำรา) แล้วนำผลมาหาค่า E1/E2 (หารายละเอียดจากหนังสือวิจัย)  เมื่อได้ค่า E1/E2 มากกว่าที่เราตั้งไว้(ปกติตั้งกันที่ 80/80) ก็ถือว่า สื่อนี้ผ่านการหาประสิทธิภาพค่อนข้างสมบูรณ์ หรือยอมรับได้  จึงสามารถนำไปใช้ได้กับกลุ่มตัวอย่างจริง ๆ (จะว่าไป วิธีการนี้ บางคนไม่ยอมรับเพราะเชื่อได้ยากว่าทำตามหลักวิชาจริง แต่อย่างน้อยควรทดลองใช้ก่อนเพื่อหาข้อบกพร่อง)
         ที่เล่ามาเป็นกระบวนการคร่าว ๆ (ซึ่งไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย)ในการจัดทำสื่อประเภทเอกสาร ที่สามารถนำไปใช้จริงได้ที่อยู่ในรูปของสื่อ"เอกสารประกอบการสอน"   
หากว่าเราต้องการนำไปพัฒนาเป็นสื่อ ICT ก็ทำได้เลยเนื่องจากมีโครงสร้าง เนื้อหาครบถ้วนแล้ว(สื่อเว็บเพจที่ผู้เขียนนำเสนอก็ล้วนมาจากเอกสารทั้งสิ้น) แต่...เมื่อเป็นสื่อ ICT แล้ว
ก็ต้องนำไปหาประสิทธิภาพของสื่อตามวิธีการข้างต้นใหม่(ให้ผู้ทรงคุณวุฒิดู..หา E1/E2)   และถ้าคิดจะส่งเป็นผลงานทางวิชาการต้องเก็บข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่เริ่มทำจนสิ้นสุดการใช้ไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนรายงาน
         จะเห็นว่าการหาคุณภาพของแบบทดสอบ, การหาประสิทธิภาพของสื่อ เป็นเรื่องสำคัญที่จะบ่งบอกว่าเมื่อนำสื่อนั้นไปใช้แล้วจะเกิดประสิทธิผลได้จริง ผู้สร้างจึงละทิ้งขั้นตอนนี้ไม่ได้หากจะส่งสื่อนั้นเป็นผลงานทางวิชาการ
        ข้อที่ควรคำนึง         -การพิจารณาเลือกสื่อ/นวัตกรรมใด ๆ ต้องคำนึงถึงว่าสื่อหรือนวัตกรรมนั้น มีหลักการ/ทฤษฎีรองรับ(ข้อนี้สำคัญ เพราะจะช่วยให้เขียนรายงานฯ ง่ายขึ้น)        -มาตรฐานคุณภาพของสื่อหนึ่ง ๆ นอกจากจะอยู่ที่ความถูกต้องตามหลักวิชาแล้ว  ความสวยงาม น่าสนใจ แปลกใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ต้องพิจารณา
การหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมที่นำเสนอก่อนหน้านี้เป็นขั้นตอนที่ผู้เขียนเห็นว่าใช้กันบ่อย  แท้จริงแล้วยังมีวิธีการต่าง ๆ ในการหาประสิทธิภาพของสื่ออีกหลายวิธี 
ในที่นี้จะขอนำมาเล่าเพิ่มเติม  ซึ่งความจริงเนื้อหาเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ที่นำมาเสนอนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเพื่อนครูนะครับ
        การหาประสิทธิภาพของสื่อ นอกจากการตรวจสอบเนื้อหา/รูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเกณฑ์ยอมรับได้คือ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นสอดคล้อง และ เกณฑ์ประสิทธิภาพของสื่อโดยวิเคราะห์คะแนนจาก สูตร E1/E2 ซึ่งเกณฑ์ยอมรับได้คือ  ถ้ากลุ่มสาระที่เน้นความรู้ความจำ  ค่า E1/E2   มีค่า 80/80  ขึ้นไป ส่วนกลุ่มสาระที่เน้นทักษะ ค่า E1/E2 มีค่า 70/70  ขึ้นไปและ ค่า E1/E2ต้องมีค่าต่างกันไม่เกินร้อยละ 5 (อันนี้เพิ่มเติมจากที่เล่าไปแล้ว)
        วิธีอื่น ๆ ที่พบในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิจัยในชั้นเรียน ได้แก่
        1  ใช้วิธีการบรรยายคุณภาพหรือเปรียบเทียบคุณภาพของวิธีการหรือนวัตกรรมหลังจากทดลองกับนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ แล้ว อันนี้ต้องมีความสามารถในการบรรยายหน่อย

        2  การใช้วิธีคำนวณจากค่าร้อยละ หรือ
P1:P2
เช่น  P1:P2 = 80:70 หมายถึงกำหนดคะแนนจุดผ่านร้อยละ 70 มีนักเรียนร้อยละ 80 สอบผ่าน

        3  การ
หาค่าดัชนีประสิทธิผล โดยใช้สูตร ที่นำ ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยหลังเรียน ลบด้วยร้อยละของคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน แล้วหารด้วยร้อยละของคะแนนเต็มหลังเรียน ลบด้วยร้อยละของคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน
เกณฑ์ยอมรับได้ คือค่าดัชนีประสิทธิผลมีค่าตั้งแต่ .50 ขึ้นไป
(ฟังดูแล้วอาจจะงง หาอ่านได้จากหนังสือ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรมวิชาการ และ หนังสือการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ของสำนักนิเทศฯ สปช.)

          สามวิธีที่เล่าเพิ่มเติมนี้ ผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยใช้ และไม่ค่อยเห็นแพร่หลาย(ใครเห็นที่ไหนช่วยบอกด้วย)
        ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงขั้นตอนการพัฒนาสื่อก่อนนำไปใช้จริงเท่านั้น ยังมีขั้นตอนสำคัญคือการนำไปใช้จริง ๆ กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และสรุปผลการใช้เป็นอันดับสุดท้าย  หากมีเวลาก็จะมาเล่าสู่กันฟังต่อรวมถึงแนวการเขียนรายงานตามรูปแบบของผู้เขียน
นะครับ

 หน้านี้จะพูดถึง การเขียนรายงานการพัฒนานวัตกรรม หรือ รายงานการใช้นวัตกรรม ตามแต่จะเรียกกัน แต่ก็คงไม่ลงลึกถึงรายละเอียด เพราะคงจะเล่ากันแบบละเอียดจริง ๆ ไม่ได้ เพื่อนครูสามารถหาอ่านแบบละเอียดจากเอกสารทางวิชาการ หรือ ผลงานทางวิชาการที่มีผู้จัดทำไว้แล้วจะดีกว่า  จะขอเล่าภาพรวมกว้าง ๆ ที่เคยเจอ อีกอย่าง  อยากบอกว่า  เล่าสู่กันจากประสบการณ์ที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ทำมาเท่านั้น รูปแบบต่าง ๆ ที่เจอแต่ละสำนักก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เราชอบใจแบบไหนก็ใช้แบบนั้น
        การเขียนรายงาน คือการเขียนบรรยายสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด ตั้งแต่ เริ่มต้นจนถึงผลการใช้สื่อ/นวัตกรรม โดยนำรูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยมาเป็นแนวทาง ซึ่งสามารถเขียนได้ทั้ง 4 บท หรือ 5 บท(ส่วนใหญ่เราจะเห็นกัน 5 บท)  ในการใช้ชื่อ ผู้เขียนมีเหตุผลอย่างหนึ่งที่ไม่อยากใช้คำว่ารายงานการวิจัย เนื่องจาก รายงานการวิจัย มีรูปแบบ(ทางวิชาการ)ที่เราต้องระมัดระวัง  ต้องใช้รูปแบบ,คำพูดให้ถูกต้อง  ถ้ารู้ไม่จริงอาจผิดพลาดได้  แต่หากว่าเรามั่นใจ หรือผ่านการเรียนรู้ในเรื่องนี้มาอย่างชัดเจนก็ไม่เป็นปัญหา
        ส่วนประกอบของรายงาน(ตามลำดับ)
            ปกนอก(หน้าปก)
                คือปกแข็งด้านนอกสุด ชื่อเรื่องถ้ายาวเกิน 1 บรรทัด นิยมเขียนให้เป็นรูปจั่วกลับ
           
รองปก
                กระดาษเปล่า ๆ ที่รองทั้งปกหน้าและปกหลัง
           
ปกใน
                เหมือนปกนอกแต่ใช้กระดาษสีขาวธรรมดา
           
บทคัดย่อ(ถ้ามี คือไม่มีก็ได้)
            คำนิยม(ถ้ามี)
            คำนำ
                เหตุผลที่จัดทำ รายงานกล่าวถึงอะไรบ้าง ทำมาอย่างไร ทำแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร
           
ประกาศคุณูปการ(ถ้ามี)
            สารบัญ
                ส่วนนี้มักจะต้องทำหลังจากส่วนอื่น ๆ เสร็จ และกำหนดหน้าเรียบร้อยแล้ว
           
สารบัญตาราง
                บางที่เรียกบัญชีตาราง ไล่ไปตามลำดับ(ไม่แยกบท) ถ้ามีตารางไม่มาก ไม่จัดให้มีก็ได้
           
สารบัญภาพประกอบ(ถ้ามี)

            บทที่ 1
                บทนี้กล่าวถึง บทนำ ภูมิหลัง ความเป็นมา(เรียกต่าง ๆ กัน) ที่ต้องมีก็คือ ปัญหา วัตถุประสงค์            บทที่ 2
                บทนี้นำเสนอข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่เรานำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน  ซึ่งจะต้องเรียบเรียงคำพูดของเราเชื่อมโยงไปยังข้อมูล เอกสารที่เรานำมาอ้างอิงโดยวิธีการที่นิยมกันขณะนี้คือการแทรกในเนื้อหา บทนี้ต้องใช้ศิลปะในการนำเสนอพอสมควร
           
บทที่ 3
                บทนี้กล่าวถึงกระบวนการ ขั้นตอนการสร้าง/พัฒนา ตั้งแต่เริ่มลงมือทำ-ทดลองใช้-พัฒนา-หาประสิทธิภาพ-ทดลองใช้-ไปจนถึงการใช้จริง กับใคร ที่ไหน เมื่อไร
ผลเป็นอย่างไร ใช้สถิติอะไร
            บทที่ 4
                กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นจากบทที่ 3  ส่วนใหญ่นำเสนอในรูปข้อมูล
           
บทที่ 5
                บทสรุปจากบทที่ 1 - 4  และมีการอภิปรายผลจากการใช้หรือพัฒนา รวมทั้งข้อเสนอแนะ                (ถ้าจัดทำ 4 บท จะรวมบทที่ 3 - 4 เข้าด้วยกัน....แต่บางตำราบอกว่า รวม บทที่ 1-2 หรือ 4-5 เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ให้ดูปริมาณของเนื้อหา)

           
ใบบอกหน้า(หรือหน้าบอกตอน)
                เป็นกระดาษสีอื่น พิมพ์ที่กึ่งกลางจากทุกด้านด้วยตัวหนาว่า  บรรณานุกรม            บรรณานุกรม
                ศึกษารูปแบบการเขียนให้ดี เขียนให้เป็นแนวเดียวทั้งเล่ม            ใบบอกหน้า(หรือหน้าบอกตอน)
               
เป็นกระดาษสีอื่น พิมพ์ที่กึ่งกลางจากทุกด้านด้วยตัวหนาว่า  ภาคผนวก  ก  ข  ค....
            ภาคผนวก
                ก  ข  ค...เช่น คำแนะนำเพิ่มเติม ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเห็นว่าสำคัญแต่ไม่ได้นำเสนอไว้ในบทที่ 1- 5 ไม่ควรมากมายนักเอาเฉพาะที่สำคัญ และภาคผนวกสุดท้ายที่ควรมีคือ ประวัติของผู้เขียน หรือ คณะทำงาน(ถ้าทำกันหลายคน) เพื่อคนอ่านจะได้รู้ว่า เราเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีภูมิรู้ขนาดไหน  ทุกภาคผนวกก็ควรมีใบบอกหน้า            รองปก
            ปกนอก(ปกหลัง)

                        การเขียนรายงานให้ได้ดีต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือต้องเขียนให้คนอ่านแล้วสามารถมองเห็นภาพขั้นการในการดำเนินงานจริง ๆ  มีวิธีการใช้ภาษา
(ที่เป็นวิชาการ)ของเราเอง หล่อหลอมกับข้อมูลต่าง ๆ อย่างสละสลวย ฟังดูแล้วต่อเนื่อง ไม่สับสน วกวน  ความสามารถเหล่านี้จะได้มาจากการอ่านแบบสะสม  จึงควรอ่านหนังสือมาก ๆ โดยเฉพาะประเภทผลงานทางวิชาการที่มีผู้จัดทำไว้แล้วและมีคุณภาพ อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ รูปแบบการพิมพ์ ควรหาหนังสือเกี่ยวกับคู่มือการเขียนรายงานไว้สักเล่มสองเล่ม หรือหาทางเข้ารับการอบรมกับหน่วยงาน หรือคณะบุคคลที่เชื่อถือได้

                        ยังมีเทคนิควิธีการที่จะเล่าสู่กันในโอกาสต่อไป  อย่างที่บอกไว้ตอนต้น เรื่องเล่านี้ เล่าจากประสบการณ์ อาจมีข้อบกพร่อง ตกหล่น หากผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ
หน้านี้จะลงลึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยของรายงาน เฉพาะส่วนที่สำคัญที่เราควรรู้นะครับ
การพิมพ์ การตั้งค่าหน้ากระดาษ
                            การตั้งค่าหน้ากระดาษ มีผู้เสนอแนะไว้ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่จะใช้ขนาดกระดาษ A4 เว้นขอบด้านบน, ด้านซ้าย  1.5 นิ้ว
ด้านขวา, ด้านล่าง เว้นไว้ 1 นิ้ว หากคอมพิวเตอร์เรากำหนดเป็นเซนติเมตร ก็ไปกำหนดเป็นนิ้วเสีย(เครื่องมือ-ตัวเลือก-ทั่วไป) โดยสรุปก็คือส่วนบนและซ้ายมือจะเว้นไว้มากกว่าส่วนล่างและขวามือ
                            การพิมพ์ หลายท่านคงเห็นคุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วว่าสามารถตัดคำให้อัตโนมัติ แต่ก็ยังไม่มีความสามารถจำแนก แยกคำในภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ จึงควรระวังการฉีกคำ  ก่อนการพิมพ์ให้จัดชิดซ้ายไว้ก่อน  เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพิมพ์(ได้มาจาก การสร้างเอกสารงานพิมพ์อย่างมีคุณภาพ ในวารสารการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดย บุญเลิศ อรุณพิบูลย์) ที่น่าสนใจมีดังนี้   
                            - เครื่องหมายวงเล็บ, เครื่องหมายคำพูด ควรเว้น 1 ครั้ง(เคาะ)ก่อนเปิดเครื่องหมาย และเว้น 1 ครั้งหลังปิดเครื่องหมาย ข้อความข้างในอยู่ติดกับเครื่องหมาย
                           
- ไม้ยมก, ไปยาลน้อย, จุด, จุดลูกน้ำ, จุดคู่, จุดครึ่ง (;),  ควรติดกับข้อความ หลังเครื่องหมายเว้น 1 ครั้ง
                                    ควรวางแผนการพิมพ์โดยแยกไฟล์งานในแต่ละส่วนหรือแต่ละบท กรณีที่เราจะไม่แสดงหมายเลขหน้าที่หน้าแรกของบท และเพื่อสะดวกในการทบทวนงาน
ประชากร กลุ่มตัวอย่าง สัมพันธ์กับสถิติที่ใช้อย่างไร
                                    แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้รูปแบบรายงานตามรายงานการวิจัยเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นสิ่งที่เราต้องกล่าวถึง  จากที่ทราบแล้วว่า ประชากร หมายถึงกลุ่มสิ่งมีชีวิต(บางที่ก็รวมสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย)ที่เราต้องการจะนำมาศึกษา ส่วนกลุ่มตัวอย่างจะหมายถึงบางส่วนของประชากรเท่านั้นซึ่งการสุ่มกลุ่มตัวอย่างมีเทคนิค/วิธีการตามหลักวิชาอยู่แล้วจะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้  แต่ในกรณีโรงเรียนขนาดเล็กเราสามารถใช้ประชากรทั้งหมดมาเป็นกลุ่มตัวอย่างได้เลย  ตัวอย่างเช่น
                                    - ชั้น ป.6 มี 1 ห้องเรียน(ประชากร)  ใช้นักเรียนชั้น ป.6 ทั้งชั้นเป็นกลุ่มตัวอย่าง และอีกกรณี
                                    - ชั้น ป.6 มี 3 ห้องเรียน(ประชากร)  สุ่ม(ตามวิธีการ)มา 1 ห้องเรียน(หรือ...คน) เป็นกลุ่มตัวอย่าง ที่สามารถอ้างอิงไปถึงประชากรชั้น ป.6 ทั้ง 3 ห้องเรียน

                                    ที่กล่าวถึงนี้เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งจะเล่าต่อไป
                                   
                                    ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเก็บรวบรวมได้ในระหว่างดำเนินงานจนจบการดำเนินงานจะต้องนำมาวิเคราะห์ตามวิธีการทางสถิติ  จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่จะบ่งบอกว่า รายงานของเราใช้สถิติที่เหมาะสมหรือไม่  ก่อนอื่นต้องศึกษาข้อตกลงเบื้องต้น, เงื่อนไข, ข้อกำหนดการใช้สถิติแต่ละตัวกันก่อน

                                    สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล มี 2 ประเภทคือ
                                    1. สถิติบรรยาย (บางที่เรียกสถิติพรรณนา) ใช้อธิบายข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ โดย
                                        - ถ้าอธิบายลักษณะตัวแปรเชิงปริมาณ ใช้ ค่าเฉลี่ย-มัธยฐาน-ฐานนิยม-เปอร์เซนต์ไทม์-เดไซม์-ควอไทม์-พิสัย-ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
                                        -ถ้าอธิบายลักษณะตัวแปรเชิงคุณภาพ ใช้ ร้อยละ-ฐานนิยม
                                        -ถ้าอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเชิงปริมาณ ใช้ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เชิงเส้น ส่วนตัวแปรเชิงคุณภาพ ใช้การสร้างตารางไขว้

                                    2. สถิติอ้างอิง ใช้เพื่อนำผลการวิเคราะห์ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างเพื่ออ้างอิงไปถึงประชากร มี 2 ประเภทคือ
                                        2.1 สถิติมีพารามิเตอร์ เช่น
t-test, Z-test, ANOVA, Regression ฯลฯ มีข้อตกลงเบื้องต้นในการใช้ 3 ประการ คือ ข้อมูลต้องอยู่ในระดับอันตรภาคขึ้นไป  ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างต้องมีการแจกแจงแบบโค้งปกติ และกลุ่มประชากรที่นำมาศึกษาต้องมีความแปรปรวนเท่ากัน
                                        2.2 สถิติไร้พารามิเตอร์ เช่น ไคสแควร์,
Medium Test, Sign Test ฯลฯ ข้อตกลงเบื้องต้นคือ ข้อมูลไม่เป็นไปตาม 2.1

ดูภาพความสัมพันธ์ระหว่างประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ดูอีกภาพหนึ่ง(ดร.ไพจิตร สดวกการ กรุณาส่งมาให้)
                                     จะเห็นได้ว่าหากเราใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่างก็ควรจะใช้เพียงแค่สถิติบรรยายก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้สถิติอ้างอิงเพื่อการทดสอบสมมติฐาน แต่หากเราใช้กลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสุ่ม(ตามวิธีการ)มาจากประชากรก็ควรใช้ถึงสถิติอ้างอิง (ส่วนการจะเลือกใช้สถิติตัวใด ก็ควรศึกษารูปแบบการใช้จากผลงานที่ผ่านการประเมินคุณภาพมาแล้วประกอบด้วย)
                                    จากที่นำเสนอหวังว่าจะช่วยให้เพื่อนครูมองเห็นแนวทางในการพัฒนางานนะครับ ขอเป็นกำลังใจ ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่รู้ บางเรื่องที่เรายังไม่รู้ก็ต้องขวนขวายเพื่อให้รู้ ผู้เขียนเองก็ได้ความรู้จากการถามมาไม่น้อยไปกว่าการอ่าน(ยังมีอีกหลายหลายเรื่องที่ยังไม่รู้)
                                    แล้วพบกันใหม่นะครับ

น้านี้จะเก็บเล็กผสมน้อย เกี่ยวกับการเขียนรายงานเพิ่มเติม (ยังไม่ทั้งหมดนะครับ)  นึกอะไรได้ หรือเจออะไรดี ๆ ที่ไหนก็จะมาเขียนเล่าสู่กัน 
ช่วยเตือนความจำทั้งคนอ่านและคนเขียนครับ
                    -ใช้คำในรายงานให้คงที่ ถ้าคำ ๆ นั้นเป็นเรื่องหรือสิ่งเดียวกัน                        อธิบายว่า คำหรือศัพท์ทางวิชาการที่เรานำมาใช้ต้องใช้ให้เหมือนกัน เช่น การจัดการเรียนรู้-การจัดการเรียนการสอน ใช้คำไหนก็ใช้คำนั้นตลอด เว้นแต่ว่าเป็นข้อความที่เรานำมาอ้างอิง
                    -ใช้คำพูดแทนตนเองให้เหมาะสม                         เท่าที่พบเห็นใช้กันว่า ผู้สอน หรือผู้วิจัย 
                       
                    -ถ้าเป็นการแก้ปัญหา ต้องเขียนปัญหาให้ชัดเจน และปัญหาที่นำมาเขียนอยู่ในวิสัยที่เราสามารถแก้ได้                        ปัญหาในห้องเรียนของเรา อย่าเลือกปัญหาใหญ่ระดับชาติ
                    -วัตถุประสงค์ไม่จำเป็นต้องมากข้อ และต้องสอดคล้องกับชื่อเรื่อง                         วัตถุประสงค์มาก เราต้องหาคำตอบมาก มีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย และผลการดำเนินงานต้องตอบจุดประสงค์ได้ทั้งหมด
                    -เอกสารอ้างอิงควรให้ทันสมัย                        เคยอ่านเจอมาว่า ไม่ควรเกิน 7 ปี(จำที่อ่านมาไม่ได้แล้ว)ที่สำคัญ ต้องสอดคล้องกับงาน ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าใช้เอกสารอ้างอิงเก่าเกินไป
เอกสารอ้างอิงถ้าพิมพ์หลายครั้งต้องใช้ครั้งหลังสุดยกเว้นว่าหาไม่ได้จริง ๆ

                    -การเรียบเรียงเนื้อหาต้องใช้ภาษาที่กระชับ รัดกุม ตรงประเด็น พิสูจน์อักษรให้ดี                        อันนี้สำคัญ โดยเฉพาะผลงานกลุ่มสาระภาษาไทยควรจะต้องไม่ผิดเลย
                    -บทสุดท้าย ต้องมีสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ                         ที่สำคัญต้องใช้ข้อมูลจากการดำเนินงานของเรา                              -เครื่องมือที่จะใช้เก็บข้อมูลทุกอย่างต้องมีการทดลองใช้ก่อนหรือที่เรียกกันว่า Tryout เพื่อตรวจสอบคุณภาพ                        คุณภาพของเครื่องมือที่จำเป็นต้องตรวจสอบมี 5 ด้าน ได้แก่ด้านความเที่ยงตรง  ความเชื่อมั่น  ความเป็นปรนัย  ความยากง่าย  และอำนาจจำแนก  เครื่องมือบางชนิดต้องตรวจสอบทั้ง 5 ด้าน บางชนิดตรวจสอบเพียงบางด้านก็ได้
 
                   -พยายามคิดวิธีการที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงวิธีการที่เคยมีคนทำไว้แล้ว หรือวิธีการที่มีคำตอบอยู่แล้ว  
                   
                    -ถ้าเป็นการดำเนินงานลักษณะทดลอง ต้องมีกลุ่มควบคุมมาเปรียบเทียบ
                    -ระบบพิมพ์ตัวเลขนำหน้าหัวข้อใช้รูปแบบเดียวกัน

                    -ถ้ามีรูปหรือภาพประกอบที่นำมาจากแหล่งอื่นต้องระบุชื่อและที่มา

                    -เอกสารที่อ้างอิงไว้ทั้งหมด(ของทุกบท)ต้องนำไปรวบรวมเป็นบรรณานุกรม

                    -จะต้องอ้างอิง ถ้าเราคัดลอกข้อเขียนของคนอื่นมา อันนี้ถือเป็นมารยาท
- ความมั่นใจในตนเองคือสิ่งสำคัญ  ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้มาจากผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือ
อ่านมาจากที่ไหน(รวมถึงที่นี่)ก็ตาม เป็นเพียงข้อมูลให้เราตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางใด
พูดง่าย ๆ อย่าเชื่อคนอื่นไปเสียทุกอย่างจนสูญสิ้นความคิดส่วนตัว

นวัตกรรม3-การสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยอาศัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์

ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ล้วนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด  และความเจริญก้าวหน้าในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ประสิทธิผล(Effectiveness) ขององค์กรขึ้นอยู่กับความสามารถขององค์กรในการเรียนรู้ถึงสถานการณ์ แนวคิด  เทคนิคการดำเนินงาน และเทคโนโลยีต่าง ๆ จากภายนอก  เรียนรู้จากประสบการณ์จากกันและกันภายในและภายนอกองค์กร  นำมาพัฒนาคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดนวัตกรรม  (Innovation)  ต่อไป การพัฒนาองค์กรให้มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมได้นั้น  ปัจจัยสำคัญที่สรรค์สร้างให้เกิดนวัตกรรม  ก็คือ  คน  ปัญญาความรู้  และทักษะความสามารถของทรัพยากรมนุษย์  เป็นหัวใจหลักของการสร้างประสิทธิภาพ(Efficiency)ของการทำงาน  และขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคง  ดังนั้น  จึงต้องมี  “การจัดการทรัพยากรมนุษย์”  ให้ต้องคิด  วิเคราะห์  และวางแผนโดยคาดคะเนถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น  เพื่อเตรียมความพร้อมให้เท่าทัน  และตรงเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยผู้บริหารระดับสูงต้องมีความมุ่งมั่นในการนำองค์กรไปสู่องค์กรสร้างนวัตกรรม  สร้างบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กร  ได้คิดสร้างสรรค์และนำเสนอแนวความคิด(Idea) ได้อย่างอิสระ  กล้าที่จะเสี่ยงนำเอาแนวความคิดดี ๆ ไปพัฒนา รวมทั้งการใช้รางวัลเป็นตัวกระตุ้นให้บุคลากรขององค์กรได้คิดสร้างสรรค์งาน  สภาพแวดล้อมที่สบาย ๆ ไม่เคร่งเครียด  ไม่ถูกตีกรอบความคิด  ก็มีส่วนช่วยให้เกิดแนวความคิดใหม่ ๆ ในทางตรงกันข้าม  หากผู้บริหารระดับสูงไม่มีความมุ่งมั่น ไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรสามารถคิดสร้างสรรค์และนำเสนอแนวความคิดได้อย่างอิสระ และไม่กล้าเสี่ยงที่จะนำแนวความคิดดี ๆ ไปพัฒนา  รวมทั้งไม่ใช้รางวัลเป็นตัวกระตุ้น  เหล่านี้  ล้วนเป็นปัญหาอุปสรรคที่ไม่อาจทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในองค์กร  นอกจากนี้หากมองไปที่ต้นน้ำ  เริ่มจากสภาพปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาเปลี่ยนแปลงช้า  ระดับความรู้ส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับขีดความสามารถทางสมองของเด็ก ไม่สามารถปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ  สังคม   และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ ๆ วิธีการเรียนการสอนไม่นำไปสู่การเรียนรู้ ด้วยตนเอง ไม่ได้กระตุ้น หรือส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ดี 
                ซึ่งองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในอนาคต กลไกในการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ประสบความสำเร็จในองค์กรนั้น สำคัญคือ จะต้องมีการเชื่อมโยงทีมงาน และองค์ความรู้ต่าง ๆ ภายในและภายนอกองค์กรเข้าด้วยกัน กำหนดเป้าหมายและกระตุ้นให้แต่ละส่วนเกิดความมุ่งมั่นที่จะทำงานในส่วนของตนอย่างสอดคล้องประสานกับทีมอื่น ๆ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน และหน้าที่ในการสร้างและจัดการทีมแห่งการสร้างนวัตกรรมนี้ ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร เช่นเดียวกัน นักออกแบบขององค์กรก็จะต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในเบื้องต้นนั้นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกับทีมอื่นคือ ต้องมีความเข้าใจในหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละส่วน มีความเข้าใจในกระบวนการทั้งหมดว่าดำเนินไปอย่างไร และใครอยู่ในขั้นตอนไหน รวมถึงต้องมีความสามารถในการรวมทีมต่าง ๆ เข้าด้วยกันตาม
ความต้องการของงานที่มี
องค์กรที่จะอยู่รอดได้ คือ องค์กรที่สร้างนวัตกรรม ผู้สร้างนวัตกรรมคือมนุษย์ มนุษย์ที่จะสร้างนวัตกรรมดี ๆ ได้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ สภาพแวดล้อมในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร
                นวัตกรรมในองค์กร คือ สิ่งใหม่ ๆ คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อแก้ไข ป้องกันปัญหา เพื่อพัฒนาองค์กร นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ด้วยฝีมือมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
                ทรัพยากรมนุษย์ที่จะสามารถสร้างนวัตกรรมได้ต้องมีทุนความรู้ ทุนทักษะ ทุนปัญญา ทุนความสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กร ต้องสรรหา ต้องสร้าง ต้องรักษา ทุนเหล่านั้นให้มีขึ้นในทรัพยากรมนุษย์
                การจะเกิดนวัตกรรมในองค์กรได้ ต้องอาศัยวัฒนธรรมของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์คือ ต้องสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนให้กล้าคิด กล้าทำ นวัตกรรมต้องเกิดจากผู้ตามหรือผู้ปฏิบัติงานและมีผู้นำคอยสนับสนุนทำเป็นตัวอย่าง และต้องอาศัยวัฒนธรรมของผู้ตามหรือผู้ปฏิบัติงานตาม
ทฤษฎี 6 ก. กล่าวคือ  
1.        กล้าคิด คิดนอกกรอบข้ามศาสตร์
2.        กล้าพูด กล้าทำมากขึ้น ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง
3.        กล้าเปิดใจ รับฟัง
4.        กล้าเสี่ยง กล้าริเริ่ม การทำผิดเป็นสิ่งที่ยอมรับ
5.        กล้าเรียนรู้ ที่ต้องมีคนกล้าเพราะมีคนกลัวอยู่ กลัวล้มเหลว กลัวนายว่า ฯลฯ
6.        กล้าทำ  ทำจริง พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
                กระบวนการสร้างนวัตกรรม
1.        ต้องมีความคิด  คิดนอกกรอบ คิดข้ามศาสตร์ คิดสร้างสรรค์ คิดสิ่งใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะชน ฯลฯ
2.        ต้องมี Project เมื่อคิดได้แล้วนำสิ่งที่คิดได้มาบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ทำเป็นโครงการ ทำ Action Plan ทำตัวชี้วัดความสำเร็จ  ( Key Performance Indicators (KPI) )
3.        มีการประเมินผลโครงการ
4.        ต้องมีการปรับแผน ใช้แผนสำรอง มีการปรังปรุงอย่างต่อเนื่อง
                การจะทดลองหรือลองทำโดยนำเอาความรู้เรื่องทรัพยากรมนุษย์ไปใช้ให้เกิดผล  เป็นรูปธรรมในองค์กรปัจจุบันนี้  ต้องเข้าใจถึงเป้าประสงค์ขององค์กรเสียก่อน  กล่าวได้ว่าการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งที่ สัมบูรณ์”  (absolute) ในตัวมันเอง แต่ทว่าเป็นสิ่งที่จะต้อง  “สัมพัทธ์”  (relative)  ไปกับปัจจัยควบคุมนั้นคือ  นโยบายการบริหารจัดการองค์กร  หรือเป้าประสงค์ขององค์กรจะเป็นตัวกำหนดเป้าประสงค์ของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์  จากนั้นก็สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกันใน 4 ขั้นตอนดังกล่าวมาข้างต้น โดยเริ่มจากการเรียนรู้จากประสบการณ์และต่อมา  ลองสังเกต ไตร่ตรองเพื่อการศึกษาประสบการณ์นั้น ก็จะนำไปสู่การได้มาซึ่งแนวคิด เปลี่ยนแปลงไปเป็นแผนงาน  งาน/โครงการ  ที่จะนำไปทดลองปฏิบัติและพิจารณาการประเมินผล เพื่อเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ ( learning experience ) และมีการปรับแผนงาน ตามลำดับ ซึ่งการให้โอกาสบุคลากรในองค์กรได้คิดสร้างสรรค์และนำเสนอแนวความคิด ได้อย่างอิสระนั้นในระยะแรกอาจมีไม่มาก หรือไม่มีเลย ก็ต้องใช้ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวกระตุ้นผลักดัน  และมีการพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ขึ้นเป็นขั้นเป็นลำดับ  ที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้
จริงจะต้องมีความอดทนและกระทำอย่างต่อเนื่อง
                การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและมีแนวความคิดใหม่ได้อย่างไร? นวัตกรรมกับการบริหารการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หรือจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันทั้งในระดับองค์กร จะถึงระดับประเทศก็ว่าได้ เพราะนวัตกรรมทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบุคคล  เช่นบุคคลากรในองค์กร มีแนวความคิด มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ จากองค์ความรู้ (Knowledge) ที่มีอยู่เดิมในองค์กร หรือในตัวของแต่ละบุคคลเอง หรือองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัย(Research) หรือ องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาที่ได้สะสมมา (Research & Development : R&D) โดยการนำองค์ความรู้ต่างๆเหล่านั้นมาประสมประสานจนก่อให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่ (New Business Process) หรือก่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือบริการใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ และที่สำคัญคือเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหากมองในระดับโลกาภิวัตน์ (Globalization) โดยไม่ได้หมายถึงประโยชน์ทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะหมายถึงประโยชน์ที่เป็นมูลค่าทางด้านสังคมและจิตใจในอีกนัยหนึ่งด้วย ดังนั้นดังที่กล่าวมาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นสิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึง เป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ และต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากองค์กร พร้อมกันนั้นการใช้การบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ต้องให้มีความทันสมัย ก่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่เป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องและนำมาปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายหรือนโยบายที่ได้วางไว้ได้ (Achieved)  จากแนวความคิดใหม่ดังกล่าวจัดว่าเป็นการนำความรู้ความคิด และการนำประสบการณ์ที่ได้ในด้านทรัพยากรมนุษย์จนถูกริเริ่มนำมาใช้ ซึ่งจัดเป็นแนวความคิดใหม่จนก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมในด้านการบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และเป็นนวัตกรรมที่สามารถจับต้องนำมาใช้ได้ เพื่อดูแลและพัฒนาบุคคลากรในองค์กรเหล่านั้นสู่ยุคแห่งการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึง โดยนวัตกรรมด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าวเห็นว่าบุคลากรมีความสำคัญและมีค่า หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าบุคลากรเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญอย่างหนึ่งและมีคุณค่ากับองค์กร ที่ต้องดูแลรักษาหรือเก็บรักษาไว้” (Human Capital) บุคคลากรเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดหรือสร้างนวัตกรรมได้ในภายหลัง       
                การจัดการทรัพยากรมนุษย์มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม หรือ Project หรือ Action Plan สามารถทำได้
อย่างไร? นวัตกรรมจะเกิดได้จะต้องเกิดจากการสร้างกระบวนการที่สามารถจับต้องได้ และนำมาใช้ก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ ดังนั้นจากคำว่ากระบวนการจัดอยู่ในเส้นทางที่เรียกว่ากลางน้ำ (Middle-Steam) เป็นกระบวนการในการทำหรือขั้นตอนในการนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ของนวัตกรรมนั้น ประกอบด้วยการนำความรู้ที่จะต้องคำนึงถึง เช่น 5K, 8K, 4L, 2R และ 3Q เป็นต้น    ในการสร้างเป็นโครงการ (Projects) หรือ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) สามารถทำได้โดยการนำโครงการต่างๆ นำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงหรือ CEO ขององค์กรนั้น เช่น โครงการการพัฒนาบุคลากรนวัตกรรมในองค์กร (Innovation Human Development Project) มีระยะเวลาของโครงการ 3 เดือนโดยมีบุคลากรในฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม และจัดทำเป็นแผนปฎิบัติการ (Action Plan) นำเสนอนุมัติอีกครั้ง โดยในแผนปฏิบัติการต้องมีการกำหนดช่วงระยะเวลา และครอบคลุมเรื่องราวต่างๆ ดังนี้
-  คัดเลือกบุคลากรจากฝ่ายต่างๆ ที่เหมาะสม
กำหนดหลักสูตร และ Workshop ที่นำมาประกอบขึ้น
-  เนื้อหาและขั้นตอนระยะเวลาปฏิบัติที่ต้องมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลสูงสุด
ประเมินผลการฝึกอบรม
                ทำอย่างไร ? โครงการนวัตกรรมเหล่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จเพราะอะไร ความสำเร็จของนวัตกรรมจัดอยู่ในระดับปลายน้ำ (Down-Steam) ซึ่งจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนวัตกรรมนั้นก่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่
                ดังนั้นการนวัตกรรมจะประสบความสำเร็จได้ต้องเกิดจากการประสมประสานที่ดีของ 3 ขั้นตอน (3 Stages) ดังต่อไปนี้
1.        เป็นสิ่งใหม่หรือนวัตกรรม โดยจะต้องคำนึงถึงด้านจริยธรรม (Ethic) เป็นหลัก จากการนำความรู้เดิมหรือความรู้ใหม่ที่เกิดจากการวิจัย นำมาพัฒนาขึ้นใหม่ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เรียกว่านวัตกรรม
2.        นำมาทำหรือปฏิบัติให้เกิดได้ (Getting, Done) เกิดผลเป็นจริง ตรงประเด็น (Reality, Relevancy : 2R)
3.        เป็นประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ และสังคม  จากการใช้นวัตกรรมนั้น 
                นวัตกรรมที่ไม่ประสบผลสำเร็จเกิดจากสิ่ง 3 สิ่ง ตามทฤษฎี 3C
                1. Communication Change หมายถึง บุคลากรไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารของนวัตกรรม
นั้น
                2. Customer Base  หมายถึง นวัตกรรมเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์ หรือตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กลุ่มต่างๆ ได้
                3. Command Control หมายถึง การควบคุมสั่งการไม่เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับนวัตกรรมนั้น
                ในความสำเร็จของนวัตกรรมนั้นควรมีการให้รางวัลกับบุคลากรเหล่านั้นเมื่อคิดค้นจนสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่จัดเป็นผลงานในด้านนวัตกรรม (Innovation) ได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเป็นแรงจูงใจ และเป็น
ตัวอย่างแก่บุคลากรอื่นๆ ต่อไป
                องค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Organization) สร้างได้ด้วยแนวคิด ทฤษฎี 3 Q เพราะ ทรัพยากรมนุษย์ เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้  
                1. Quality of Human Resources (HR Innovation)  องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ องค์กรต้องมีทรัพยากรที่มีคุณภาพ ต้องสรรหาคนที่มีคุณภาพเข้ามา ส่วนคนที่มีอยู่ต้องสร้าง ต้องรักษา ต้องใช้คนที่มีคุณภาพคนมีคุณภาพ" เริ่มตั้งแต่การคัดเลือก "คน" ที่เข้ามาทำงานต้อง มีแววในเรื่องนวัตกรรม มีการออกไปตามมหาวิทยาลัยเรียกว่าโครงการ "Drawing Career" เพราะโลกทุกวันนี้ เราไม่ได้แข่งขันที่ผลิตนวัตกรรมสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่แข่งขันตั้งแต่การเฟ้นหาคน บิสซิเนสพาร์ตเนอร์ หรือซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุดด้วย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทางด้าน องค์กรแห่งนวัตกรรม
                2. Quality of Organization คนที่มีคุณภาพมาอยู่รวมตัวในองค์กร องค์กรนั้นจะเป็นองค์กรที่มีคุณภาพเป็นองค์กรที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างไม่หยุดยั้ง
                3.  Quality of Product or Service องค์กรที่มีคุณภาพ จะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม จะสามารถสร้างนวัตกรรมทางสินค้า / บริการที่มีคุณภาพ  
                และที่สำคัญการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้นั้น ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศขององค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)
กรณีตัวอย่างบริษัทที่นำการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยอาศัยการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ไปใช้
                 บริษัท ซัมซุงประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน จนสามารถเป็น "คู่แข่งที่เหนือกว่าบริษัทโซนี่ได้โดย ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ใคร ๆ ก็รู้จักแต่โซนี่ ขณะที่ซัมซุงเป็นแบรนด์ที่ ไม่มีใครรู้จักมากนัก และไม่มีใครเชื่อว่า วันหนึ่งซัมซุงจะกลายเป็นผู้แข่งขันที่ทัดเทียม กับโซนี่ได้  ต่อมาในปี 2004  “ซัมซุงก็พลิกสถานการณ์จาก "ผู้แข่งขันที่ไม่มีทางสู้" มาเป็น "ผู้แข่งขันที่น่ากลัวของโซนี่" และยังสามารถก้าวมาเป็น "ผู้แข่งขันที่เหนือกว่า" ได้ในปี 2005 ด้วยยอดขายที่มากกว่าถึง 4 พันล้านเหรียญดอลลาร์
สหรัฐ 
                คำตอบที่ซัมซุงสามารถทัดเทียมโซนี่ได้ นั่นคือ "ความเร็วกว่า" ซัมซุงเป็นองค์กรที่มีความเชื่อมั่นต่อการสร้างนวัตกรรมและได้ร่วมงานกับ IDEO ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มาตลอดช่วง 10 ปีหลัง 
                กรณีศึกษานี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากองค์กรจะต้องปรับปรุงและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องส่งเสริมและพัฒนาอัตราการสร้างนวัตกรรมให้รวดเร็วมากกว่าเดิมอีกด้วย  การทำงานแบบเดิม คงเดิมจะเป็นตัวเร่งทำลายองค์กร ส่วนนวัตกรรมที่ดีจะเป็นตัวเร่งสร้างความก้าวหน้าให้องค์กร  การสร้างนวัตกรรมในองค์กรจึงต้องเริ่มจากการทำให้การสร้างนวัตกรรม ให้เป็นค่านิยมและเป็นวัฒนธรรมขององค์กร องค์กรแห่งนวัตกรรม ควรจัดตั้งทีมพัฒนานวัตกรรมขึ้นมา โดยส่งเสริมให้สมาชิกในทีมมีบุคลิกที่ต่างกัน 9 บุคลิก และมีบทบาทที่เหมือนกัน 3 บทบาท
บุคลิก 9 แบบที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในทีม ได้แก่
1. บุคลิกของการเป็นผู้นำที่ดี
2. บุคลิกของการเป็นผู้ตามที่ดี
3. บุคลิกของการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ เล่นบทเป็นนักเรียน นักศึกษา
4. บุคลิกของการเป็นนักมานุษยวิทยา
5. บุคลิกของการเป็นนักทดลองค้นคว้า
6. บุคลิกของการเป็นนักผสมผสาน
7. บุคลิกของการเป็นนักบริหารจัดการ ในบุคลิกของผู้ก้าวข้ามอุปสรรค
8. บุคลิกของการเป็นนักประนีประนอม
9. บุคลิกของการเป็นผู้บริหาร
บทบาทเหมือนกัน 3 บทบาท ได้แก่
1. บทบาทของนักสร้างสรรค์
2. บทบาทของนักสร้างประสบการณ์ที่ดีและ
3. บทบาทของนักบริการ
                ในทีมพัฒนานวัตกรรม ควรมีวิธีการในการพัฒนานวัตกรรม 5 ขั้นตอน ดังนี้
1.  พยายามสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน (Understand) อะไร คือปัญหา ที่แท้จริงขององค์กร ของหน่วยงาน
2.  สังเกต (Observe) ค้นหาสาเหตุของปัญหา
3.  หาแนวทางแก้ไข (Visualize)  แสวงหาทางเลือกในการแก้ไข ป้องกัน หลาย ๆ ทางเลือก จัดลำดับแนวทางเลือกที่ดีที่สุด อย่างน้อย 5 อันดับ นำทางเลือกอันดับที่ 1 มาทดสอบแนวความคิด
4.  ทดสอบแนวความคิดกับผู้ใช้โดยตรง (Evaluate / Refine) ทดสอบแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด ที่คัดเลือกมา
5.  นำผลที่ได้จากการทดสอบไปสร้างนวัตกรรม (Implement) ทำแผนการปฏิบัติการ มีตัวชี้วัดความสำเร็จ ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ทีมงานพัฒนานวัตกรรม ควรต้องออกแบบความรู้สึกใหม่  ๆ ที่ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกดีและพึง
พอใจมากขึ้นอีกด้วย
 การสร้างผลกำไรด้วยการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญซึ่งสามารถทำกำไรได้มากกว่าและยังเป็นการทำกำไรที่ผู้บริโภคยินดีจ่าย"
            STABUCK เป็นตัวอย่างที่ดี ในการสร้างนวัตกรรม จัดระบบการบริหารธุรกิจกาแฟให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เฝ้าดูลูกค้า สานสัมพันธ์กับลูกค้า ใช้แบรนด์ STABUCK ในการสร้างนวัตกรรมการบริการและผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าอยากสัมผัส และยอมจ่ายกว่าถึง 3 เท่า เพื่อแลกกับความสุข  ผู้ชนะ มีการผลิต/การบริการ/คิดค้นนวัตกรรมที่รวดเร็ว มีวัฒนธรรมเคลื่อนไหวเร็ว ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน เพราะมีความคิดริเริ่มในอัตราที่สูง  
                องค์กรที่มีนวัตกรรมที่อยู่ในระดับแนวหน้า สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก มีอยู่หลายองค์กร เช่น บริษัท P&G ได้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้กลายเป็นนวัตกรรม และเพิ่มนวัตกรรมในผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เข้าใจการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของลูกค้า  แสวงหาหุ้นส่วนจากภายนอก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ แนวความคิดและผลิตใหม่ ๆ
                บริษัท GOODGLE ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการหาข้อมูลอย่างง่าย ๆ เป็นเจ้าของ Online Search และความเจริญเติบโตเกี่ยวกับการโฆษณาอย่างรวดเร็ว และเชื่อมต่อกับลูกค้าอย่างเข้มแข็ง
                บริษัท ซัมซุง จับความต้องการ และความรู้สึกของลูกค้า ออกแบบเก๋ เข้าใจอารมณ์ร่วม เคลื่อนผ่านจากการผลิตสินค้าทั่วไป ไปเป็นผู้นำแบรนด์ชั้นนำ นำสินค้าใหม่ ๆ สู่ตลาดโลก
                บริษัท NOKIA เน้นออกแบบที่ล้ำสมัย ออกโมเดลอย่างรวดเร็ว เพิ่มภาพลักษณ์ โดยเข้าใจลูกค้าที่มีความประสงค์จะใช้ตัวแบบมือถือที่เหมาะสมกับเพศและวัย 
                บริษัท TOYOTA เน้นคุณภาพมีผลผลิตที่มีประสิทธิภาพปรับปรุงอย่างต่อเนื่องใช้ยุทธศาสตร์ธุรกิจที่เหนือชั้น เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการผลิตที่เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่า เพื่อการครองตลาดให้มากขึ้นจาก
                การศึกษาบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า   องค์ประกอบเพื่อสร้างความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมในองค์กรมีดังนี้
·        ปฏิวัติวัฒนธรรมที่ล้าหลัง ทำงานแบบเดิม ๆ
·        ส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ รับสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์
·        ส่งผู้เชี่ยวชาญภายในออกไปเยี่ยมชมสินค้าและตลาดอื่นๆ
·        นำผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้าสู่องค์กร
·        จ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายใน
·        ให้โบนัสแก่ผู้มีความคิดใหม่ ๆ ที่ทำให้ลูกค้าพอใจ
·        การพัฒนาเทคโนโลยี ใหม่ ๆ ใช้ห้องห้องปฏิบัติการ(Laboratory)เป็นหลัก
·        ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่งเสริมให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน และเอื้อต่อการเรียนรู้ ทำสิ่งใหม่ ๆ ให้องค์กร เป็นต้น

ครอบครัวคน น่ารัก ^^