คอนกรีตนั้นเป็นวัตถุดิบที่นิยมใช้กันมากที่สุด ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ มานานมากกว่า 2 พันปีแล้ว เพราะนอกจากจะปั้นหรือหล่อเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย คอนกรีตยังมีความแข็งแรงทนทานและยืดหยุ่นได้ดีด้วย
อย่างไรก็ตาม การผลิตคอนกรีตนั้นเป็นกระบวนการที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เวลานี้จึงมีการพยายามคิดหาวิธีผลิตคอนกรีต แบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ไม่ลดคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ด้านอื่นๆ ของคอนกรีต
นั่นคือเสียงของอาจารย์ Christian Meyer หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่บอกเล่าถึงความแข็งแรงทนทานของคอนกรีต ซึ่งชาวโรมันได้นำมาใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น วิหาร Pantheon เมื่อราว 2 พันปีที่แล้ว และยังคงยืนหยัดข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ Meyer ยังบอกด้วยว่า คอนกรีตนั้นมีราคาถูกกว่าวัสดุก่อสร้างชนิดอื่นๆ และยังสามารถหาซื้อได้ง่าย นั่นเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศทั่วโลก ต่างนิยมใช้คอนกรีตในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน
ในแต่ละปีมีการผลิตคอนกรีตทั่วโลกนับพันๆ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน หรือทราย และปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตคอนกรีตนั้นสร้างภัยคุกคามสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ในการผลิตปูนซีเมนต์จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนถูกปล่อยออกมาด้วย โดยในการผลิตปูนซีเมนต์ 1 เมตริกตัน หรือ 1 พันกิโลกรัม จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาราว 1 เมตริกตัน เช่นกัน โดยจะมาจากการผสมซีเมนต์ และการหลอมรวมสารเคมีต่างๆ ที่เป็นส่วนผสม เช่น หินปูน ดินเหนียว แร่เหล็ก และแร่ธาตุอื่นๆ ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 1500 องศาเซลเซียส ตลอดจนการเผาน้ำมันและถ่านหินเพื่อใช้เป็นพลังงาน เชื่อกันว่ากระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 7% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่มาจากภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก
อาจารย์ Christian Meyer แนะนำว่า วิธีที่จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตคอนกรีตนั้น ก็คือ ลดการใช้ปูนซีเมนต์ แล้วหันไปใช้วัตถุดิบอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายปูนซีเมนต์แทน ซึ่งตัวอย่างวัตถุดิบที่รู้จักกันดีก็คือ fly ash หรือขี้เถ้าลอย ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ของถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็งอื่นๆ
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้นี้ บอกว่า ขี้เถ้าลอยมีคุณสมบัติคล้ายปูนซีเมนต์ สามารถผสมรวมเข้ากับน้ำและซีเมนต์แล้ว ผลิตเป็นคอนกรีตได้ดีกว่าการใช้ปูนซีเมนต์เพียงอย่างเดียว และยังมีราคาถูกกว่าปูนซีเมนต์อีกด้วย คาดว่าในอนาคตอาจมีการวางแผนให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อที่จะสามารถนำขี้เถ้าลอยซึ่งเป็นของเสียจากโรงไฟฟ้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตปูนได้ทันที และนอกจากขี้เถ้าลอยแล้วยังมีการพัฒนาปูนซีเมนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมแบบอื่นๆ เช่น การผสมอนุภาคไทแทเนียมออกไซด์ ลงในซีเมนต์เพื่อลดมลพิษในอากาศ หรือปูนซีเมนต์สีขาว ที่อาจนำมาย้อมเป็นสีอื่นๆ ใช้แทนสีเทา ช่วยลดมลพิษทางสายตาได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ความพยายามในการคิดค้นคอนกรีตสีเขียว เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกในปัจจุบัน และอนาคต.