ฟิลเตอร์ UV ถือเป็นฟิลเตอร์ที่มีการใช้งานมากที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่า มีหน้าที่ไว้คอยปกป้องไม่ให้เลนส์เป็นรอย แต่จริงๆ แล้ว นั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ เพราะประโยชน์ที่แท้จริงของฟิลเตอร์ UV นั้น คือ ทำให้ภาพถ่ายมีสีสันใกล้เคียงกับที่ตาเห็นมากที่สุด (จะเห็นได้ชัดจากกล้องฟิล์ม) นอกจากนี้ การเลือกเกรดฟิลเตอร์ UV นั้นยังมีผลโดยตรงต่อภาพ หากเลือกไม่ดีจะบั่นทอนคุณภาพเลนส์ ส่งผลต่อคุณภาพภาพ สีผิดเพี้ยน เกิดแฟลร์ ซึ่งหากจะเปรียบเลนส์เป็นดวงตา ฟิลเตอร์ UV ก็เหมือนกัแว่นตา ซึ่งเลนส์แว่นตาก็มีหลายเกรด ถ้าดีหน่อยก็ย่อมจะใสปิ้งมองชัดเจน ถ้างบประมาณน้อยหน่อยก็อาจจะมัว เวียนหัวปวดตา การเลือกฟิลเตอร์ UV ที่ถูกต้องนั้น จึงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเลนส์และความเหมาะสม ซึ่งแน่นอน ฟิลเตอร์ UV แพงๆ มักจะทำให้การใช้เลนส์ให้มีคุณภาพสูงสุดที่เลนส์ทำได้ โดยไม่บั่นทอนภาพให้คุณภาพต่ำลง
แล้วต้องเลือกอย่างไรถึงจะเหมาะสม และเนื่องจากฟิลเตอร์ UV มีหลายเกรด ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับฟิวเตอร์ UV กันก่อน
มารู้จักฟิวเตอร์ UV กันก่อน
ฟิลเตอร์ UV เป็นฟิลเตอร์ที่มีความสามารถในการลดรังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งจะช่วยให้ภาพที่ได้มีสีสันใกล้เคียงตาเห็นมากขึ้น เนื่องจากฟิลเตอร์ UV จะไปลดแสงสีฟ้า ที่เกิดจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตออกไป จะเห็นชัดในภาพที่ถ่ายจากฟิล์ม ดิจิตอลก็จะเห็นได้บ้าง ช่างภาพส่วนใหญ่จึงมักจะนิยมซื้อหามาติดหน้าเลนส์อยู่เสมอ และยังมีผลพลอยได้ในการปกป้องหน้าเลนส์ไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนอีกด้วย
ฟิลเตอร์ UV ที่มีขายในบ้านเรามีหลากแบบ หลายราคา ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงสามถึงสี่พันบาท ซึ่งคุณภาพชิ้นแก้ว และวัสดุที่ใช้ในการผลิต ย่อมแตกต่างกันไปตามราคา ซึ่งความแตกต่างของวัสดุตรงนี้ โดยเฉพาะชิ้นแก้ว จะส่งผลกระทบกับภาพที่ได้ แบบเห็นค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่นการเกิดแฟลร์ในภาพ (จำนวนแฟลร์จะมากน้อยขึ้นกับแฟลร์พื้นฐานของเลนส์ด้วย) สีสันของภาพถูกลดทอนลง
โดยการวัดคุณภาพของฟิลเตอร์ UV นั้น จะวัดกันที่ความสามารถในการให้แสงผ่านเป็นหลัก ส่วนเรื่องความทนทานของกรอบฟิลเตอร์ หรือเกลียว ถือเป็นปัจจัยรองลงมา
แล้วจะเลือกซื้อฟิลเตอร์ UV อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ฟิลเตอร์ UV ที่ดีดูอย่างไร วิธีสังเกตง่ายๆ คือให้ดูจากแสงสะท้อน หากสะท้อนมากคุณภาพยิ่งไม่ดี และเนื่องจากราคาที่ถูก จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนของกรอบฟิลเตอร์ลง ทำให้ใช้โลหะคุณภาพต่ำในการผลิต เวลาใช้งานจึงมีปัญหาปีนเกลียว เกลียวหวาน หรือปิดฝาไม่ได้
ถ้าจะแยกประเภทให้แห็นชัดเจน ฟิลเตอร์ UV ในเมืองไทย พอจะแยกประเภทได้คร่าวๆ ตามคุณภาพได้ดังนี้
ฟิลเตอร์ UV ประเภทแรก (คุณภาพต่ำสุด แสงสะท้อนมากสุด)
ฟิลเตอร์ราคาประหยัด (ส่วนใหญ่เป็นของแถม) ดูได้จากราคาในหลักร้อยบาท อย่างเช่น Hoya UV, Digitex, Marumi กล่องเหลือง, Kenko , Giottos type Aฯลฯ มักจะใช้ทรายอุตสาหกรรมในการผลิตแก้ว หรือเทียบง่ายๆ กับกระจกใสที่ติดตามบ้านทั่วไป ซึ่งถ้ามองตรงๆ จะพบว่ามีแสงเงาสะท้อนขาวๆ ยิ่งถ้าฟิลเตอร์ UV ยี่ห้อไหนมีแสงสะท้อนกลับมาก อาจทำให้ผู้ใช้งานพาลคิดว่า เลนส์ไม่ดี กล้องไม่ดี ต้องเสียเงินเปลี่ยนกล้องเปลี่ยนเลนส์กันเลยทีเดียว
ฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สอง (คุณภาพดีปานกลาง)
ฟิลเตอร์ UV ระดับกลาง ราคาประหยัด เช่น Hoya UV HMC, Marumi กล่องแดง, Sigma DG UV , Giottos type S ที่กระจกฟิลเตอร์มีการเคลือบผิวพิเศษ หรือที่เรียกกันว่าโค๊ท (Coated) ซึ่งมีทั้งเคลือบมาก เคลือบน้อย ตามระดับราคาของฟิลเตอร์ ซึ่งโค๊ทจะช่วยเพิ่มความสามารถในการให้แสงผ่านของชิ้นแก้ว บางยี่ห้อก็สีฟ้า เขียว เหลือง แล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิต และความสามารถในการให้แสงผ่านก็ต่างกันตามผู้ผลิตด้วย แต่ฟิวเตอร์ UV ชนิดนี้ก็มีข้อเสียการดูแลรักษาค่อนข้างลำบาก เนื่องจากการเคลือบชิ้นแก้วจะเหมือนมีฟิล์มแผ่นบางๆ ติดอยู่บนผิวของแก้ว ซึ่งถ้าทำความสะอาดไม่ดี หรือมีอะไรไปกระทบ โอกาสที่โค๊ทจะหลุดสูง ซึ่งถ้าหลุดไปแล้ว รูที่แหว่งนั้นจะทำให้เกิดความไม่เท่ากันของแสง ทำให้โอกาสเกิดแฟลร์เป็นจ้ำๆ สูงกว่าฟิลเตอร์ UV ราคาถูกเสียอีก
ฟิลเตอร์ UV ในระดับนี้อย่างดีจะเป็นพวก Canon Protected, Nikon NC, Sigma UV EX, Hoya UV Pro I, Marumi กล่องทอง, Kenko Pro 1 D โดย 2 ยี่ห้อแรกจะใช้วัสดุคุณภาพสูงกว่า 4 ยี่ห้อหลัง (จริงๆ แล้วฟิลเตอร์ของ Canon กับ Nikon ความใสของเนื้อกระจกดีเท่ากับ B+W กับ Rodenstock ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าใช้งานมาซัก 5 ปี ความใสกระจกเริ่มเปลี่ยน เลยจัดมาอยู่ตรงนี้แทน และทั้ง 2 ตัวก็ไม่จัดว่าเป็น UV แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกัน ส่วนถ้าใครใช้ยี่ห้อ Hoya UV Pro I หรือคล้ายๆ แบบนี้แนะนำว่าเวลาเช็ดให้ระวังมากๆ เพราะถ้าโค๊ทหลุดก็คงต้องเสียเงินเปลี่ยนฟิลเตอร์ใหม่กันเลย
ฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สาม (คุณภาพดี)
ฟิลเตอร์เยอรมัน แบบไม่โค้ท จัดเป็นฟิลเตอร์ระดับกลางอีกแบบ ฟิลเตอร์ประเภทนี้ใช้วัสดุในการผลิตคุณภาพสูง แต่ไม่มีการเคลือบผิวเลนส์ หรือเคลือบน้อยชั้น เนื่องจากชิ้นแก้ว เป็นชิ้นแก้วที่ผลิตจากทรายสำหรับทำเลนส์โดยเฉพาะ ซึ่งมีค่าความใสสูงกว่ากระจกแบบธรรมดาทั่วไป ความสามารถในการให้แสงผ่านเท่ากันกับฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สอง แต่การดูแลรักษาง่ายกว่าเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องโค๊ทมากนัก (อายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป) กรอบฟิลเตอร์ UV ชนิดนี้ ทำจากเหล็กกล้าหรือทองเหลืองอย่างดี จะราคาสูงกว่าฟิลเตอร์ UV ประเภทที่สองนิดหน่อย เช่น B+W (Schneider) UV (ไม่มีโค๊ท แต่เนื้อแก้วใสมาก), กับ Rodenstock UV Coated (โค๊ทออกสีน้ำเงินฟ้า) ฟิลเตอร์ UV ประเภทนี้ความทนทานสูง ใช้งานได้ประมาณ 10 ปีสบายๆ ไม่มีปีนเกลียว แต่ระวังขันแน่นเกินไป ถ้าขันแน่นมากๆ จะเข้าไปเกาะจนขันแทบไม่ออก ตอนใช้ฟิลเตอร์ UV พวกนี้แรกๆ นึกในใจว่าซื้อมาแพงยังจะปีนเกลียวอีก ที่ไหนได้ พอใจเย็นๆ ค่อยๆ ขันก็ออกมาได้โดยไม่เสียรูปและเกลียวยังสมบูรณ์
ฟิลเตอร์ UV ประเภทที่ สี่ ฟิลเตอร์ไฮโซ
ฟิลเตอร์ UV แบบนี้ดีที่สุด โดยการนำฟิลเตอร์ประเภทที่สาม มาเคลือบโค๊ทเพื่อเพิ่มความสามารถในการให้แสงผ่านได้สูงที่สุด ราคาสูงที่สุด ความสามารถในการให้แสงผ่านเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ฟิลเตอร์ชนิดนี้ ถ้าใส่ไปที่หน้าเลนส์แล้ว มองตรงเข้าไปจะต้องมองไม่เห็นกระจกฟิลเตอร์เลย หรือเห็นน้อยมาก ทำให้รีดความสามารถของเลนส์ได้สูงที่สุด เท่าที่เคยเห็นในตลาดบ้านเรามี B+W UV MRC, Rodenstock UV MRC ครับ (สีของโค๊ทขึ้นกับขนาดหน้ากว้างฟิลเตอร์ หน้า 77 มม. จะเป็นน้ำเงินม่วง แต่ถ้าเป็น 52 มม. จะเป็นสีเหลืองอมเขียว) หากมองตรงๆ จะแทบมองไม่เห็นเนื้อกระจก
หลังจากทราบประเภทและเกรดของฟิลเตอร์ UV ไปแล้ว ทีนี้เราก็สามารถเลือกฟิลเตอร์ UV ที่เหมาะสมสำหรับเลนส์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกณฑ์ราคาฟิลเตอร์ UV ที่เหมาะสม จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1 ใน 10 ของราคาเลนส์ แต่ถ้าตั้งใจจะใช้เป็นการถาวร หรือใช้งานนานๆ งบประมาณไม่จำกัด ก็สามารถซื้อแบบดีที่สุดไปเลยก็ได้ เพราะมันจะมีผลกับภาพที่เราจะถ่ายต่อไปในอนาคต ฟิลเตอร์ญี่ปุ่นกับเยอรมันสังเกตง่ายๆ โดยฟิลเตอร์ญี่ปุ่นเน้นราคาถูก ขายง่าย เปลี่ยนบ่อยๆ ส่วนฟิลเตอร์เยอรมันจะเน้นคุณภาพสูง ขายแพง แต่ใช้นาน ดังนั้นจะเลือกฟิวเตอร์แบบไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จะซื้อฟิลเตอร์ UV เยอรมัน โค๊ทผิวดีสุดๆใสสุดๆ ไปใส่กับเลนส์คิท ที่ราคาเกือบเท่ากับฟิลเตอร์ อย่างนั้นสู้ไม่ใส่ฟิลเตอร์ พอพังก็ซื้อเลนส์ใหม่ยังดีกว่า หรือซื้อเลนส์เกรดดีๆ ตัวละหลายหมื่น มาใส่ฟิวเตอร์ UV อันละไม่กี่ร้อยบาท ภาพที่ออกมาแทนที่จะดีเท่าราคาเลนส์ที่จ่ายไป กลับถูกทอนคุณภาพด้วยฟิลเตอร์ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เสียของเปล่าๆ ค่ะ*
สรุป เทคนิคการเลือกซื้อฟิลเตอร์ UV
1. ราคาฟิลเตอร์ UV ต้องเหมาะสมกับราคาเลนส์ (ประมาณ 1 ใน 10 ของราคาเลนส์ )
2. ฟิลเตอร์เยอรมัน อายุการใช้งานทนทานกว่าฟิลเตอร์ญี่ปุ่น 2 เท่า ( 10 ปี UP)
3. คิดเสมอว่า การใส่ฟิลเตอร์ UV ก็เหมือนการประกอบเลนส์อีกชิ้น ดังนั้นฟิลเตอร์ UV มีผลต่อภาพ แต่ถ้าหากอยากได้ภาพที่รีดคุณภาพของเลนส์มากที่สุด แนะนำให้ถอดฟิลเตอร์
4. หากคิดจะซื้อราคา 100-200 มาใส่ แนะนำว่า ไม่ใส่จะดีกว่า
5. ถ้าคุณมีเงินเหลือเฟือ หรือหากินกับการถ่ายภาพ แนะนำให้ซื้อดีที่สุด รับประกันว่าง่ายต่อการทำงาน และคุ้มค่าเรื่องอายุการใช้งานค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น