10 กุมภาพันธ์ 2554

นวัตกรรม6-การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์แบบที่ไม่ต้องมีแพทย์ควบคุม

ข้อมูลโดย VOA News ภาคภาษาไทย :::



การตัดเนื้อเยื่อบางส่วนในร่างกายด้วยการสอดเข็มเพื่อนำเนื้อเยื่อไปตรวจนั้น มักจะเป็นวิธีการแรกที่แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผ่าตัดใหญ่โดยไม่จำเป็น โดยแพทย์จะสอดเข็มที่มีท่ออยู่ด้านในเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจออกมา

ล่าสุดนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Duke ทดลองใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพจำลองทางคอมพิวเตอร์มาใช้ร่วมกับกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) โดยเริ่มจากการจำลองภาพอกไก่งวงขึ้นมาแทนทรวงอกของมนุษย์ และจึงจำลองผลองุ่นลูกหนึ่งแทนก้อนเนื้องอกใส่ในอกไก่งวงนั้น จากนั้นจึงทดลองให้หุ่นยนต์ตัดเนื้อเยื่อที่ต้องการจากก้อนเนื้องอกเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

ศาสตราจารย์ Stephen Smith แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ รังสีวิทยา และฟิสิกส์การแพทย์ มหาวิทยาลัย Duke รัฐ North Carolina อธิบายว่า หลังจากค้นพบก้อนเนื้องอก คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์จะสั่งการไปยังหุ่นยนต์ให้สอดเข็มลงไป เพื่อเก็บเซลล์เนื้อเยื่อออกมาได้อย่างง่ายดายและถูกต้องแม่นยำ โดยสามารถระบุตำแหน่งและจัดการตัดเนื้อเยื่อได้ภายในระยะห่างเพียง 2 มิลลิเมตร จากตำแหน่งใจกลางของเนื้องอกก้อนนั้น

ศาสตราจารย์ Smith ชี้ว่า เครื่องมือใหม่นี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวินิจฉัยโรคต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากได้ตั้งแต่เริ่มปรากฎอาการ และหวังว่าในอนาคตจะมีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์รังสีวิทยา นักวิจัยผู้นี้บอกว่า เห็นภาพรถพยาบาลคันหนึ่งวิ่งไปตามเมืองต่างๆ ภายในรถมีเครื่องฉายเอ็กซเรย์แมมโมแกรม และหากคอมพิวเตอร์ตรวจพบก้อนเนื้อผิดปกติในผู้ป่วยคนไหน หุ่นยนต์ที่อยู่ภายในรถก็สามารถเริ่มกระบวนการเก็บเนื้อเยื่อของคนไข้ออกมาวินิจฉัยได้ทันที

ปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อด้วยวิธีสอดเข็มใช้เวลาประมาณ 1 นาที และต่อไปจะสามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อวิทยาการต่างๆ รุดหน้ามากกว่าเดิม ทางด้านนายแพทย์ Vipul Patel แห่งสมาคมการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้การผ่าตัดในอนาคต ง่ายดายขึ้นและแม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บน้อยลง โดยเป้าหมาย คือ การนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผ่าตัดแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์ Patel ระบุว่า เวลานี้ผู้ป่วยราว 85% ได้รับการผ่าตัดด้วยการช่วยเหลือจากหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องเกินความคาดหมายหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน โดยก้าวแรกที่สำคัญ คือ การทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยไร้กังวลเมื่อต้องรับการผ่าตัดจากหุ่นยนต์

ปัจจุบันการทดลองใช้เทคโนโลยีเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อโดยหุ่นยนต์แบบไม่ต้องมีแพทย์ควบคุม กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี เชื่อว่าจะมีการทดสอบกับผู้ป่วยจริงได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ในช่วงไม่เกิน 10 ปีนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครอบครัวคน น่ารัก ^^